“7 Days in Entebbe” ภาพยนตร์ซึ่งสร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1976 หรือเมื่อเกือบ 41 ปีก่อน แต่คนรุ่นหลัง โดยเฉพาะชาว Millennials หรือ Gen Y (คนที่เกิดในช่วงปี 1980-2000) และคนยุค Gen Z ที่เกิดหลังปี 2000 อาจไม่รู้จัก หรือเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนั้นมาก่อน
หากมีการจัดอันดับวิกฤตจี้ตัวประกันครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ย่อมมีชื่อของเหตุการณ์ที่เอนเทบเบ ประเทศยูกันดา ติดอยู่ในนั้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะในแง่ของความอุกอาจของผู้ก่อเหตุ จำนวนตัวประกัน และประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความสำเร็จของปฏิบัติการชิงตัวประกันของทหารอิสราเอล ซึ่งไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของคนยุคนั้น
ย้อนรำลึกเหตุการณ์บุกช่วยตัวประกันที่โลกต้องจารึก
เช้าวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 1976 ซึ่งดูเหมือนวันธรรมดาที่ไม่ต่างจากวันอื่นๆ แต่ใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุระทึกขวัญที่โลกไม่มีวันลืมขึ้น เมื่อเครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์ฟรานซ์ (Air France) เที่ยวบิน AF-139 (จากเทลอาวีฟ, อิสราเอล สู่กรุงปารีส, ฝรั่งเศส) ถูกสลัดอากาศ 4 คนในคราบผู้โดยสารบุกขึ้นเครื่องหลังเครื่องบินแวะจอดที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซได้ไม่นาน โดยผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินพร้อมควบคุมผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องกว่า 240 ชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิสราเอลหรือคนเชื้อสายยิวไว้เป็นตัวประกัน ก่อนจะบังคับให้นักบินเปลี่ยนเส้นทางบินจากจุดหมายในปารีส ให้ไปลงที่สนามบินเอนเทบเบในประเทศยูกันดา แต่ก่อนที่เครื่องบินจะไปถึงเอนเทบเบ สลัดอากาศได้ควบคุมเครื่องบินไปแวะจอดเติมเชื้อเพลิงที่เมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย และอยู่ที่นั่นนาน 7 ชั่วโมง ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังกรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา ที่ซึ่งได้สร้างวีรกรรมของทหารหาญอิสราเอลใน “ปฏิบัติการเอมเทบเบ” จนเป็นตำนานเล่าขานแก่คนรุ่นหลัง
“สลัดอากาศ” กลุ่มนี้ พวกเขาเป็นใคร มาจากไหน และทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร?!!?
ผู้ก่อการร้ายบนเครื่องทั้ง 4 ประกอบด้วย 2 สมาชิกแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Popular Front for the Liberation of Palestine / PFLP) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีแนวคิดสุดโต่งและเคียดแค้นชาวยิวเป็นทุนเดิมจากปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์เรื่องการแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของปาเลสไตน์ ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล นอกเหนือจากสมาชิกชาวปาเลสไตน์แล้ว ยังมีสมาชิกกลุ่มกองโจร Revolutionary Cells (RZ) ชาวเยอรมัน 2 คน “วิลฟรีด โบเซ” และ “บริจิตต์ คูห์ลมันน์” ซึ่งมีความจงเกลียดจงชังชาวยิว เข้าร่วมขบวนการนี้ด้วย และปฏิบัติการจี้เครื่องบินครั้งนี้อาจได้รับการสนับสนุนตั้งแต่ต้นจาก “อีดี อามิน” ผู้นำเผด็จการทหารของยูกันดา แม้เขาจะเคยได้รับการฝึกฝนจากกองทัพอิสราเอลมาก่อนก็ตาม
ผู้ก่อการร้ายจาก 2 กลุ่มได้ประกาศข้อเรียกร้องขอแลกตัวประกันบนเครื่องกับนักโทษการเมือง 53 คน (แบ่งเป็นนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกักขังในอิสราเอล 40 คน และนักโทษที่ถูกขังในอีก 4 ประเทศรวม 13 คน)
หลังเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานเอนเทบเบ นายอีดี อามิน ผู้นำยูกันดาได้เดินทางมาต้อนรับผู้ก่อการร้ายด้วยตัวเอง จากนั้นพวกเขาได้ควบคุมตัวประกันทั้งหมดไปยังอาคารพักผู้โดยสารเก่า เพื่อคัดแยกผู้โดยสารสัญชาติอิสราเอลและชาวต่างชาติที่มีเชื้อสายยิวออกจากผู้โดยสารกลุ่มใหญ่ ก่อนจะคุมตัวพวกเขาไปแยกขังไว้ในอีกห้องหนึ่ง
ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน ผู้ก่อการร้ายได้ตัดสินใจปล่อยตัวประกันกลุ่มแรก 48 คนที่ไม่ใช่ชาวยิวและส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้หญิงและเด็กให้บินกลับกรุงปารีส วันถัดมารัฐบาลอิสราเอลได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเจรจาด้วย ส่งผลให้ผู้ก่อการร้ายยอมปล่อยตัวประกันเพิ่มอีก 100 คน และเลื่อนกำหนดเส้นตายจากวันที่ 1 กรกฎาคมเป็น 4 กรกฎาคม แต่ขู่ว่าหากข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้รับการสนองตอบ พวกเขาก็จะเริ่มสังหารตัวประกันซึ่งมีอยู่ 106 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารชาวยิว 84 คน ชาวฝรั่งเศส 10 คน และลูกเรือแอร์ฟรานซ์ 12 คน
ข้ามมาที่ฝั่งประเทศอิสราเอล บรรดาเจ้าหน้าที่ข่าวกรองหน่วย Mossad อันเลื่องชื่อ กำลังรวบรวมข้อมูลต่างๆ เท่าที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุด จากนั้นได้ประชุมกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อหาทางช่วยตัวประกัน โดยหนึ่งในผู้ออกแบบภารกิจคือ “เอฮุด บารัก” อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยคอมมานโดซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนในปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน แต่คราวนี้เป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัส เพราะพวกเขามีข้อมูลเกี่ยวกับยูกันดาไม่มาก แถมยังไม่รู้พิกัดทำเลที่ตั้งของเอนเทบเบเลยด้วยซ้ำ ถึงขนาดที่บารัคเคยเล่าในภายหลังถึงบทสนทนาที่เขาถามคนในห้องประชุมตอนนั้นว่า “พวกคุณแน่ใจจริงๆ หรือว่าเอนเทบเบอยู่ตรงไหน?”
ดังนั้นภารกิจครั้งนี้จึงเป็นบททดสอบที่ท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของ “เอฮุด บารัก” ผู้ซึ่งต่อมาได้ก้าวขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรีอิสราเอล”
การที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลยอมรับว่ามืดแปดด้าน ทำให้ต้องวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ แต่พวกเขาก็ยังต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะชีวิตตัวประกันมีความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายแทบทุกวินาที และในที่สุดก็มีชายวิศวกรจากบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเคยนำเสนอโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ในสนามบินเอนเทบเบ ก้าวออกมาพร้อมกับกางผังอาคารเทอร์มินัลเก่าที่ถูกใช้เป็นที่กักขังตัวประกันในขณะนั้น ต่อจากนั้นบารักและทีมงานของเขาก็ได้คลี่พิมพ์เขียวและเริ่มวางแผนปฏิบัติการอย่างมีความหวังมากขึ้น
ในตอนแรก ทีมของบารักปิ๊งไอเดียให้หน่วยรบพิเศษ SEAL ของกองทัพเรืออิสราเอล ซึ่งเชี่ยวชาญการรบทั้งทางทะเล อากาศ และบก กระโดดร่มลงในบริเวณทะเลสาบวิคตอเรียที่มีจระเข้ชุกชุม จากนั้นก็พรางตัวเดินทางไปถึงที่หมาย หรือใช้เรือสปีดโบ๊ตของเคนยาช่วยในการเดินทาง แต่หน่วยข่าวกรอง Mossad เตือนว่าเคนยาอาจไม่ยอมร่วมมือกับอิสราเอลอย่างโจ่งแจ้งแบบนั้น เพราะพวกเขากลัวว่าจะทำให้ผิดใจกับประธานาธิบดียูกันดา
เมื่อแผนดังกล่าวถูกกาทิ้งบนโต๊ะ ทีมงานจึงต้องนั่งระดมสมองกันใหม่ ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลก็มีแผนสำรองที่จะปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์เพื่อแลกกับตัวประกัน หากปฏิบัติการทางทหารไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ในระหว่างนี้ก็มีหลายประเทศ ซึ่งมีอียิปต์เป็นหนึ่งในนั้น ได้พยายามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยด้วยวิธีทางการทูต โดยรัฐบาลอียิปต์ได้เจรจากับทั้ง “ยัสเซอร์ อาราฟัต” ประธานองค์การปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์ (PLO) และรัฐบาลยูกันดา จากนั้นอาราฟัตได้ส่งผู้แทนพิเศษเดินทางไปยูกันดาเพื่อเจรจาขอปล่อยตัวประกัน แต่สมาชิก PFLP ในกลุ่มก่อการร้ายไม่ยอมคุยด้วย
เมื่อการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทูตประสบความล้มเหลว จึงเหลือหนทางเดียวนั่นก็คือ การบุกจู่โจมเพื่อชิงตัวประกัน และในวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 18.30 น. คณะรัฐมนตรีอิสราเอลก็ได้อนุมัติแผนช่วยเหลือตัวประกัน โดย “พลจัตวาแดน ชอมรอน” ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการครั้งนี้ซึ่งใช้ชื่อว่า “Operation Thunderbolt” หรือ “ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ” ขณะที่ “พันโทโยนาทัน เนทันยาฮู” ซึ่งเป็นพี่ชายของ “เบนจามิน เนทันยาฮู” นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบัน ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าหน่วยจู่โจม Sayeret Matkal ของกองทัพอิสราเอล (IDF) ในปฏิบัติการครั้งนั้น
วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม ทหารและเจ้าหน้าที่อิสราเอลกว่า 200 ชีวิตออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังเอนเทบเบด้วยเครื่องบินลำเลียง C-130 เฮอร์คิวลิส 4 ลำ และโบอิ้ง707 สองลำซึ่งรับบทเป็นศูนย์บัญชาการลอยฟ้าและหน่วยแพทย์สนาม แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ พวกเขาต้องบินที่เพดานบินต่ำมาก บางจุดบินเหนือพื้นดินไม่ถึง 35 ฟุต แต่พวกเขาก็ไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ โดยบินข้ามทะเลแดง ผ่านประเทศจิบูตี, เคนยา, โซมาเลีย เอธิโอเปีย และทะเลสาบวิคตอเรีย ใช้เวลาบินทั้งหมด 8 ชั่วโมง รวมระยะทางราว 2,500 ไมล์
ทหารอิสราเอลเลือกไปถึงยูกันดาในตอนกลางคืนเพื่อซ่อนตัวในความมืดและไม่ให้เป็นที่สังเกต เมื่อถึงที่หมาย รถเมอร์เซเดสสีดำคันหรูที่เหมือนกับรถประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีอีดี อามิน ถูกนำลงจากเครื่องบินของอิสราเอล พร้อมกับรถแลนด์โรเวอร์ที่เหมือนกับรถคุ้มกันในขบวน ถึงตรงนี้ผู้อ่านคงร้องอ๋อแล้วว่า อิสราเอลจะใช้แผนไหนตบตาทหารยูกันดาเพื่อฝ่าเข้าไปในอาคารผู้โดยสารเก่าของสนามบินเอมเทบเบ ที่ซึ่งตัวประกันทั้งหมดถูกขังอยู่ จริงอยู่ว่าอิสราเอลยังไม่ทราบตำแหน่งแน่ชัดว่าตัวประกันถูกขังอยู่ตรงส่วนไหนก็ตาม
หน่วยจู่โจมอิสราเอลหวังจะขับรถเมอร์เซเดสผ่านด่านตรวจความปลอดภัยโดยไม่ให้ถูกจับพิรุธ แต่ทหารยามยูกันดา 2 นายเกิดจำได้ว่า ประธานาธิบดีอามินได้เปลี่ยนไปใช้รถเมอร์เซเดสคันใหม่สีขาวแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงสั่งให้รถหยุด แต่ทันใดนั้น พันโทเนทันยาฮูได้ตัดสินใจสั่งการให้หน่วยคอมมานโดยิงใส่พวกเขาด้วยปืนเก็บเสียง แต่ทหารในรถแลนด์โรเวอร์ที่ตามมากลับยิงซ้ำด้วยปืนไรเฟิล ทำให้ทหารยูกันดาได้ยินและรู้ตัวก่อนจะเปิดฉากยิงใส่ขบวนรถ
พันโทเนทันยาฮู และ “มูกิ เบตเซอร์” ได้สั่งให้หยุดรถ แต่จุดที่พวกเขาอยู่ไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ พวกเขากระโดดออกจากรถและวิ่งไปที่อาคารผู้โดยสารอย่างรวดเร็ว เดิมทีพวกเขาวางแผนให้กระจายกำลังไปยังประตูแต่ละจุด แต่เวลานี้หน่วยคอมมานโดทั้งทีมวิ่งกรูเข้าไปพร้อมกัน
ทว่าทหารอิสราเอลก็มาได้ทันการณ์ เพราะผู้ก่อการร้ายยังไม่ทันตั้งตัวและมีโอกาสเหนี่ยวไกใส่ตัวประกัน มีหนึ่งในคนร้ายถูกยิงเสียชีวิตทันที จากนั้นเบตเซอร์เห็นผู้ก่อการร้ายอีก 2 คนวิ่งตามเข้ามา จึงได้ลั่นไกปลิดชีพพวกเขา และในระหว่างที่หน่วยจู่โจมวิ่งเข้าไปในห้องโถง พวกเขาก็ได้ตะโกนผ่านโทรโข่งให้ตัวประกันหมอบลงกับพื้น
การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด เสียงปืนดังจากทุกสารทิศ ผู้คนวิ่งหนีกันชุลมุน บางคนเข้าไปหลบในห้องน้ำหรืออะไรก็ตามแต่ที่จะใช้เป็นที่กำบังกระสุนได้ มีเสียงสวดวิงวอน ระคนกับเสียงตะโกนเป็นภาษาฮิบรู แต่ในที่สุดเสียงต่างๆ ก็เริ่มสงบลง เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยพร้อมกับที่ทหารอิสราเอลมั่นใจว่าผู้ก่อการร้ายเสียชีวิตหมดแล้ว เบตเซอร์จึงได้แจ้งไปยังกองบัญชาการที่กรุงเทลอาวีฟว่า ปฏิบัติการสายฟ้าแลบประสบความสำเร็จ พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวประกันได้ 102 คนจากทั้งหมด 106 คน ขณะที่ผู้ก่อการร้ายถูกปลิดชีพทั้ง 7 คน (มี 3 คนตามมาสมทบที่เอนเทบเบในภายหลัง) เช่นเดียวกับทหารยูกันดาอีกอย่างน้อย 20 นายที่ถูกยิงเสียชีวิต ส่วนทหารอิสราเอลเสียชีวิต 1 นาย คือ “พันโทโยนาทัน เนทันยาฮู” ซึ่งเป็นผู้นำทีมปฏิบัติการจู่โจมครั้งนี้ และนี่คือเหตุผลที่ปฏิบัติการเอนเทบเบถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า “Operation Yonatan” เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญและเสียสละของโยนาทัน เนทันยาฮู
จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ 41 ปีแล้ว แต่สำหรับตัวประกันที่ยังมีชีวิตอยู่ ความทรงจำในวันนั้นยังคงสดใหม่ราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน เพราะ 7 วันที่เอนเทบเบยาวนานราวกับถูกพันธนาการในเรือนจำนวน 7 ปี ขณะที่ตัวประกันส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาจะมีจุดจบที่นั่นและไม่มีวันได้กลับบ้านอีก
“7 Days in Entebbe“ จะพาเราย้อนกลับไปสัมผัสกับเหตุการณ์ครั้งนั้น ผ่านมุมมองของตัวละครต่างๆ และภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้นักแสดงระดับแม่เหล็กอย่าง “โรซามันด์ ไพก์” (Gone Girl, Jack Reacher, A Long Way Down) และ “แดเนียล บรูห์ล” (Captain America: Civil War, Rush) มารับบทเป็น 2 ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินจากกลุ่ม Revolutionary Cells รวมถึงได้มือเขียนบทอย่าง “เกร็กกอรี เบิร์ก” ผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวสุดเข้มข้นในหนังฟอร์มเยี่ยม ’71 และกำกับโดย “โฮเซ พาดิลา” ผู้กำกับฝีมือเดือดจาก Elite Squad, RoboCop และซีรีส์ฮิต Narcos
จากเรื่องจริงชวนทึ่งของภารกิจบุกชิงตัวประกันที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์โลก “7 Days in Entebbe“ 5 เมษายนนี้ ในโรงภาพยนตร์