“Alice, Darling” เป็นผลงานกำกับหนังยาวเรื่องแรกของ “แมรี นาย” ผู้กำกับหญิงที่เคยทำหนังสั้นชนะรางวัลมาแล้วหลายเทศกาล รวมทั้งกำกับซีรีส์มาหลายเรื่อง นอกจากนี้เธอยังเป็นลูกสาวของนักแสดงรุ่นใหญ่ “บิล นาย” (Love Actually) ด้วย
ผู้กำกับเล่าว่าสิ่งที่ทำให้เธอหลงรักบทเรื่อง “Alice, Darling” คือตัวละคร “อลิซ” นั่นเอง “‘อลิซ’ เป็นคนที่เก็บอะไรไว้มากมายมหาศาลอยู่ข้างใน แต่เธอไม่แสดงอะไรออกมาเลย สำหรับฉันมันท้าทายมากในฐานะคนทำหนังว่าจะเล่าให้คนดูสัมผัสความรู้สึกที่เอ่อล้นในใจของผู้หญิงคนนี้ออกมาอย่างไร”
เธอยังบอกอีกว่า “ฉันไม่ได้ทำให้ ‘Alice, Darling’ เป็นหนังที่พูดถึงความรุนแรงที่ผู้ชายทำกับผู้หญิง ซึ่งเราคงได้ดูกันบ่อยแล้ว แต่ฉันตั้งใจจำเพาะเจาะจงพูดถึงประสบการณ์ ถึงความรู้สึกลึกๆ ของผู้หญิงคนหนึ่งที่โดนกดขี่โดยผู้ชาย”
“อลันนา ฟรานซิส” ผู้เขียนบทต้องรีเสิร์ชข้อมูลอย่างมหาศาลกว่าจะลงมือเขียน เพราะ “Alice, Darling” จะไม่ใช่แค่หนังระทึกขวัญว่าด้วยผู้ชายกดขี่ผู้หญิงด้วยความรักเท่านั้น แต่พวกเขามุ่งหวังให้หนังพูดถึงความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของผู้หญิงที่โดนกระทำ แม้สิ่งที่ผู้ชายทำอาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย
“แมรี นาย” เป็นคนอังกฤษ แต่ฉากหลังใน “Alice, Darling” นั้นเกิดที่แคนาดา เธอเองก็ไม่แน่ใจว่าคนอเมริกัน (หรือคนแคนาเดียน) มองว่าคนแบบไหนมีเสน่ห์พอที่จะมารับบทเป็น “อลิซ” แต่สำหรับเธอ “แอนนา เคนดริก” คือคนๆ นั้น “‘แอนนา’ มีเสน่ห์สำหรับฉันมาก และที่สำคัญเธอเป็นคนเปิดกว้างอย่างที่สุด และช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับฉันด้วย”
ในหลายฉากที่อลิซต้องเก็บงำความรู้สึกและระเบิดอารมณ์ออกมา ผู้กำกับพยายามทำให้ในฉากมีทีมงานเหลือน้อยที่สุด “มีแค่แอนนา ฉัน ผู้กำกับภาพ และคนบันทึกเสียงเท่านั้นเลย”
ด้าน “แอนนา เคนดริก” เล่าว่าเธอตกหลุมรักบท “Alice, Darling” ตั้งแต่อ่านฉากแรกฉากเดียว “มันเป็นฉากที่ ‘อลิซ’ นั่งอยู่หลังรถ และบทก็เขียนเล่าท่าทางของเธอ ไม่มีตรงไหนบอกเลยว่าเธอโดนทำร้าย แต่ทุกสิ่งที่คนเขียนบทเล่ามานั้น ฉันเข้าใจได้ทันทีว่าเธอต้องเจออะไรมาแน่ๆ ฉันคิดว่านี่เป็นวิธีเปิดเรื่องที่ฉลาดและแยบยลเหลือเกิน”
เคนดริกยังบอกว่าสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับ “Alice, Darling” คือจะทำหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอย่างไรโดยที่ไม่ต้องมีฉากฝ่ายชายผลักฝ่ายหญิงชนกำแพง “แบบที่ไม่ต้องป้อนเข้าปากคนดูแบบง่ายๆ ว่านี่คือผู้ร้าย และนี่คือคนดี”
เคนดริกคิดว่าหลายคนเคยผ่านความสัมพันธ์ที่เป็นพิษมาแล้วแต่อาจจะไม่รู้ตัว และเธอเองก็เคยผ่านมาเช่นกัน “ฉันเหมือนตัวตนเสี้ยวหนึ่งของฉันถูกขโมยไป ชีวิตเหมือนติดลูปซ้ำๆ ไปกับการพยายามทำให้อีกฝ่ายอารมณ์ดี ฉันทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว ฉันละทิ้งตัวเองเหมือนคนเดินหลงทาง แม้ทุกวันนี้ฉันอาจจะเดินออกจากความสัมพันธ์นั้นแล้ว แต่ฉันก็ทำอะไรบางอย่างสูญหายไปจากความสัมพันธ์ครั้งนั้น”
เคนดริกเล่าต่อว่า ผู้กำกับชวนเธอไปนั่งในห้องตัดต่อด้วยกัน “ฉันไม่เคยไปนั่งห้องตัดต่อในหนังที่ฉันเล่นเรื่องไหนเลย นี่คือครั้งแรก” เนื่องจากแมรีต้องการฟังความเห็นของเธอในฐานะคนที่ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครนี้ออกมา
“Alice, Darling หลงผัวร้าย ลืมเพื่อนรัก” มีคิวเข้าฉายไทย 9 มีนาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์