ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 6 อวสานหงสา (The Legend of King Naresuan 6)
เรื่องย่อ
แม้น “ยุทธหัตถี” จะเป็น “มหาศึก” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
แต่ก็หาใช่ “ศึกสุดท้าย” ที่ทำให้ “อโยธยา” มีความสุขสงบมาอีกกว่า 200 ปีไม่
หากคือการเริ่มต้นแห่งการรวบรวมบ้านเมืองและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับแผ่นดิน
ด้วยระยะเวลาการเตรียมงานสร้างและถ่ายทำถึง 14 ปี
คือผลงานภาพยนตร์เกริกเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล”
“ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อวสานหงสา”
สู่ “บทสรุป” ของ “อภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอคชั่นอิงประวัติศาสตร์”
จาก “ตำนานกษัตริย์นักรบ” อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยกว่า 4 ศตวรรษ
9 เมษายน 2558
ในปี พ.ศ. 2135 หลังพ่าย “ศึกยุทธหัตถี” ฝ่ายหงสาวดี “พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ทรงโทมนัสที่ต้องสูญเสียพระราชโอรส จึงมีรับสั่งให้คลอกไฟเหล่าแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จ “พระมหาอุปราช” (นภัสกร มิตรเอม) ให้ตายตกตามกัน ทั้งยังระบายพระโทสะไปที่ “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) องค์ประกันและพระราชโอรสธิดาถึงสิ้นพระชนม์ชีพ
ข้าง “สมเด็จพระนเรศวร” (พันโท วันชนะ สวัสดี) นั้น มีพระราชประสงค์จะนำทัพปราบหงสาวดีให้ราบคาบมิให้ตกค้างเป็นเสี้ยนหนาม ครั้นมาได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระพี่นางและพระราชนัดดาก็ยิ่งโทมนัส จึงตัดสินพระทัยยกทัพใหญ่ หมายเหยียบหงสาวดีให้ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างที่เดินทางมาถึงเมืองเมาะตะมะได้จับตัว “พระยาลอ” ผู้สำเร็จราชการแทน ที่ “พระเจ้านันทบุเรง” ส่งให้มาปกครองเมือง ถูก “เม้ยมะนิก” (เต็มฟ้า กฤษณายุธ) ราชธิดาของ “ศิริสุธรรมราชา” เจ้าเมืองเมาะตะมะลอบสังหารเพื่อแก้แค้นแทนบิดา พร้อมรวบรวมชาวรามัญเพื่ออาสาขอเข้าร่วมรบพม่ากับชาวอโยยา
แต่ครั้นเมื่อทัพของพระองค์เสด็จถึงหงสาวดีก็พบแต่เพียงเศษซากของมหานครอันเคยยิ่งใหญ่ ด้วย “นัดจินหน่อง” (นาวาอากาศโทจงเจต วัชรานันท์) ราชบุตรพระเจ้าตองอูได้วางอุบายเชิญพระเจ้านันทบุเรงพร้อมกวาดต้อนผู้คนแลทรัพย์ศฤงคารของหงสาไปไว้ยังตองอูจนหมดสิ้น
ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรจึงทรงยกทัพตามขึ้นไปถึงเมืองตองอู มีพระราชบัญชาให้ “เมงเยสีหตู” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) เจ้าเมืองส่งตัวพระเจ้านันทบุเรงออกมาถวาย ด้านนัดจินหน่องเห็นว่าพระเจ้านันทบุเรงที่เชิญมานั้นเป็นภัยชักศึกเข้าบ้านจึงหมายยืมมือสมเด็จพระนเรศวรสังหารพระเจ้านันทบุเรงเสีย แต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้านันทบุเรงที่ทรงทุพพลภาพเป็นที่น่าสมเพชก็ให้สลดพระราชหฤทัย ระหว่างนั้น “เมงราชาญี” (รณ ฤทธิชัย) เจ้าเมืองยะไข่ได้แต่งทัพเป็นกองโจรตีลัดตัดเสบียงอยุธยามิให้ส่งข้าวน้ำขึ้นไปเลี้ยงทัพที่ล้อมพระนครตองอูอยู่ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (พันเอก วินธัย สุวารี) จึงแบ่งทัพลงมาหมายจะเผด็จศึกยะไข่มิให้เป็นหอกข้างเเคร่ แต่ทรงพลาดท่าถูกเมงราชาญีจับตัวได้ พระราชมนูจำต้องขันอาสานำกำลังลงมาแก้เอาสมเด็จพระเอกาทศรถกลับคืน และยกทัพกลับยังอยุธยา
ข้างฝ่ายพุกามประเทศนั้นได้บังเกิดกษัตริย์ชาตินักรบขึ้นมาแทนพระเจ้าชนะสิบทิศมีพระนามว่า “พระเจ้ายองยาน” ตามชื่อพระนครที่ปกครอง พระเจ้ายองยานทรงขยายแสนยานุภาพครอบคลุมดินแดนพม่าตอนบน เข้ายึดครองหัวเมืองในรัฐไทยใหญ่ทั้งหลาย และทรงกรีฑาทัพเข้าตีเมืองยองห้วยและเมืองแสนหวีซึ่งขณะนั้นล้วนเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงล่วงรู้ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะตัดไฟเสียแต่ต้นลมไม่ให้อธิราชศัตรูพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอยุธยาได้อีก สมเด็จพระนเรศวรจึงได้เสด็จยกกองทัพไปตีอังวะ ครั้งนั้น “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) และ “พระอัครมเหสีมณีจันทร์” (ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ก็ทูลขอให้งดซึ่งราชการสงคราม สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงให้สัญญาว่าจะเสด็จไปทำศึกครานี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็ยั้งทัพจัดกระบวนอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้ทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกขึ้นไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหางตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว อยู่มาสมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรจึงโปรดให้ข้าหลวงรีบเชิญเสด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า ครั้นมาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยาราชธานี
พ.ศ. 2544-2558 ตลอดระยะเวลากว่า 14 ปีในการเตรียมงานสร้าง
เปิดกล้องบวงสรวง และใช้เวลาถ่ายทำยาวนานร่วมทศวรรษ
ทุ่มทุนสร้างสูงที่สุด ระดมนักแสดงระดับแถวหน้าของเมืองไทยมากที่สุด
หลังจากความสำเร็จอย่างมหาศาลที่ยังไม่เคยมีภาพยนตร์ไทยเรื่องใดในประวัติศาสตร์เคยทำได้มาก่อนของ “สุริโยไท” ภาพยนตร์ดราม่าเชิงประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเกียรติประวัติและความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระศรีสุริโยไท วีรสตรีผู้หาญกล้าที่ได้รับการยกย่องในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” (ท่านมุ้ย) ได้ทรงถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มและออกฉายในปีพุทธศักราช 2544
ไม่มีใครคาดคิดว่าทันทีที่ภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท” ออกฉายเป็นที่ประจักษ์สายตาต่อผู้ชม คือจุดเริ่มต้นของบันทึกครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยที่เรียกได้ว่าเป็นย่างก้าวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติชีวิตการสร้างภาพยนตร์ของ “ท่านมุ้ย” ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นการเตรียมงานสร้าง ค้นคว้าข้อมูลหลักฐานต่างๆ ตลอดจนพงศาวดาร จดหมายเหตุ ย้อนกลับไปของประวัติศาสตร์ในอดีตตลอดช่วงระยเวลากว่า 4 ศตวรรษที่ดำเนินต่อเนื่องมาตราบจนปัจจุบันทั้งที่ได้รับการบันทึกและไม่เคยถูกบันทึกมาก่อนจากหลักฐานที่มีอยู่จริงที่เป็นลายลักษณ์อักษร คำบอกกล่าวหรือเรื่องราวที่มีการเล่าขานต่อเนื่องกันมาทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งในส่วนของไทยเอง พม่า ชนกลุ่มน้อยใหญ่ รวมไปถึงบันทึกของชาวตะวันตกที่ได้แวะเวียนเข้ามาในแต่ละช่วงเวลาในแต่ละยุคสมัยที่เอ่ยอ้างและกล่าวถึง “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” กษัตริย์นักรบวีรบุรุษผู้ห้าวหาญผู้ซึ่งรวบรวมปึกแผ่นผืนดินเป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับประกาศอิสรภาพความเป็นไทจนเกิดเป็นประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้
ยังไม่รวมกับการที่ท่านมุ้ยพร้อมด้วย “รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์” ที่ปรึกษาและผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ได้ออกเดินทางตามรอยประวัติศาสตร์ออกสำรวจและเข้าไปสัมผัสในทุกพื้นที่และดินแดนต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริงเพื่อรวบรวมหลักฐานและเกร็ดข้อมูลทางประวัติศาสตร์และข้อถกเถียง ตลอดจนสมมติฐานต่างๆ อันนำไปสู่การเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ไทยอิงประวัติศาสตร์ระดับตำนานเพื่อเตรียมเนรมิตรภาพในประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยมีใครได้เคยเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ออกมาใกล้เคียงความเป็นจริงในที่สุด ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการบันทึกว่าเป็นโปรเจกต์ภาพยนตร์แอคชั่นอิงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่กว่าภาพยนตร์เรื่องใดในอดีตในทุกๆ ด้าน รวมทั้งผลงานระดับมาสเตอร์พีซก่อนหน้าของท่านอย่าง “สุริโยไท” นับตั้งแต่ทุนสร้าง จำนวนนักแสดงหลัก และนักแสดงสมทบ ตลอดจนบรรดาซูเปอร์สตาร์ระดับแนวหน้าของเมืองไทยมากที่สุดและนักแสดงสมทบที่ร่วมเข้าฉากมากมายผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์จากจำนวนนับหมื่นคน ยังไม่รวมจำนวนช้างม้าวัวควายและสัตว์ต่างๆ ที่ต้องเข้าฉากอีกมากมาย
ภายหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท” เข้าฉาย หลังจากนั้น 3 ปีต่อมา “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาคแรก” ที่ใช้ชื่อว่า “องค์ประกันหงสา” จึงได้เริ่มต้นทำเปิดกล้องถ่ายทำพร้อมด้วยพิธีบวงสรวงขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2547 ที่กองพลทหารราบที่ 9 (ค่ายสุรสีห์) ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีที่ถูกเนรมิตให้เป็นเมืองอโยธยาเมื่อราว 400 กว่าปีก่อน โดยมี “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีบวงสรวงเปิดกล้องภาพยนตร์ และทรงทอดพระเนตรการถ่ายทำโดยมีนักแสดงเข้าร่วมฉากถ่ายทำกว่า 1,000 คน และหลังจากนั้นได้มีการถ่ายทำอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงต้นปี พ.ศ. 2558 ก่อเกิดเป็นภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่มาพร้อมด้วยจำนวนภาคต่อของภาพยนตร์ที่มีการถ่ายทำที่ตั้งใจไว้จากเดิม 3 ภาคกลายเป็น 6 ภาค โดยมีเหล่านักแสดงคุณภาพทุกรุ่นทั่วฟ้าเมืองไทยจากในอดีตจนถึงปัจจุบันร่วมเป็นส่วนหนึ่งและถ่ายทอดการแสดงในบทบาทและตัวละครต่างๆ ทั้งที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์และที่ถูกเพิ่มขึ้นมาในภาพยนตร์
ด้วยระยะเวลาในการถ่ายทำยาวนานต่อเนื่องกว่า 14 ปี นับตั้งแต่การเริ่มต้นเตรียมงานสร้างและใช้เวลาในการถ่ายทำอย่างยาวนานกว่าทศวรรษ จาก “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช องค์ประกันหงสา” (18 ม.ค. 50) ปฐมบทของวีกรรมอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามมาด้วยภาค 2 “ประกาศอิสรภาพ” (15 ก.พ. 50), ภาค 3 “ยุทธนาวี” (31 มี.ค. 54) ต่อเนื่องด้วยภาค 4 “ศึกนันทบุเรง” (11 ส.ค. 54) และภาค 5 “ยุทธหัตถี” (29 พ.ค. 57) จนกล่าวได้ว่า “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” คือภาพยนตร์ไทยเรื่องสุดท้ายที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าใช้ระบบการถ่ายทำด้วยกล้องฟิล์มภาพยนตร์
สู่บทสรุปส่งท้ายแห่งอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอคชั่นอิงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
ของกษัตริย์นักรบยอดวีรบุรุษที่อยู่ในหัวใจ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”
อันเป็นที่รัก เคารพ และศรัทธาของคนไทยมากว่า 4 ศตวรรษ
9 เมษายน 2558 “พร้อมมิตร โปรดักชั่น” และ “สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” พร้อมแล้วที่จะนำผู้ชมและคนไทยทั้งแผ่นดินเดินทางย้อนเวลากว่า 4 ศตวรรษสู่บทสรุปของอภิมหากาพย์ภาพยนตร์แอคชั่นอิงประวัติศาสตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อวสานหงสา” ที่สร้างจากตำนานกษัตริย์วีรบุรุษนักรบไทยอันเป็นที่รักและศรัทธาของปวงชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน เพื่อถ่ายทอดหลากหลายเรื่องราวในตำนานที่หลายคนไม่เคยรู้ บ้างยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับอีกหลายศึกสงครามและข้อขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากอภิมหาศึกแห่งประวัติศาสตร์ยุทธหัตถีจบลง พระราชประวัติของพระนเรศวรที่ยังคงดำเนินต่อ ไม่ว่าจะเป็นการที่พระองค์ยังคงทรงออกศึกสมรภูมิรบกับอาณาจักรต่างๆ อีกหลายครั้งหลายคราก็เพื่อมวลประชาราษฎร์ของพระองค์ รวมไปถึงหลากหลายชะตากรรมชีวิตที่ยังคงดำเนินต่อของผู้คนในประวัติศาสตร์ที่อยู่รายล้อมรอบตัวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทั้งในฝั่งอโยธยาและนอกอาณาจักร การเปลี่ยนผ่านถ่ายอำนาจการปกครองจากอาณาจักรหงสาวดี ราชธานีของพม่าที่เคยรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่เหนือชมพูทวีปในอดีตที่กลับมลายหายสิ้นไปจากแผนที่ การล่มสลายของหงสาวดีและการก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจของอาณาจักรใหม่ๆอย่างเกตุมวดีตองอู เหตุผลสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนเรศวรต้องเปิดศึกครั้งใหม่ทั้งๆ ที่อโยธยาไม่เคยชักศึกไกลถึงหงสามาก่อน เกิดอะไรขึ้นกับพระเจ้านันทบุเรงภายหลังจากสูญเสียพระมหาอุปราชาที่ทรงสวรรคตจากการศึกยุทธหัตถี หลากหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่ากันว่าชีวิตทหารไพร่พลพม่ารามัญนับหมื่นนับแสนที่พ่ายแพ้จากศึกในประวัติศาสตร์ล้วนตกต้องทัณฑ์มหันต์ถูกสั่งให้สุมไฟเผาทั้งเป็นรวมไปถึงวิบากกรรมที่พระสุพรรณกัลยาทรงรับไว้จากผลกระทบดังกล่าว นำไปสู่การสิ้นสุดในสถานภาพของการเป็นองค์ประกันหงสาอย่างแท้จริง และยังมีอีกหลากหลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การบุกเข้าตีตองอูของกองทัพอโยธยา รวมไปถึงการเสด็จสู่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชฯลฯ
รวบรวมเหล่านักแสดงระดับตำนานถ่ายทอดการแสดงสุดเข้มข้นสู่บทสรุปส่งท้ายอันยิ่งใหญ่ “พันโทวันชนะ สวัสดี, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, นพชัย ชัยนาม, เกรซ มหาดำรงค์กุล, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, พ.อ.วินธัย สุวารี, นาวาอากาศโทจงเจต วัชรานันท์, สรพงษ์ ชาตรี, ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง, พันโทคมกริช อินทรสุวรรณ, นภัสกร มิตรเอม” พร้อมด้วยเหล่านักแสดงระดับคุณภาพมาร่วมเพิ่มความเข้มข้นอย่างถึงขีดสุดในบทบาทของตัวละครที่เข้ามามีบทบาทใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อวสานหงสา” ไม่ว่าจะเป็น “นิรุตติ์ ศิริจรรยา” (เมงเยสีหตู – เจ้าของนครเกตุมวดีตองอู), “สะอาด เปี่ยมพงษศ์สานต์”, “รัชนี ศิระเลิศ” (พระมเหสีผู้อยู่เคียงข้างเมงเยสีหตู / พระราชมารดาของนัดจินหน่อง), “เต็มฟ้า กฤษณายุธ” (เม้ยมะนิก – ราชธิดาที่มีเชื้อสายรามัญพม่าของศิริสุธรรมราชา เจ้าเมืองเมาะตะมะ ผู้ซึ่งนำชาวรามัญมาร่วมกับชาวอโธยาเพื่อรบกับพม่า), “รณ ฤทธิชัย” (เมงราชาญี – เจ้าเมืองยะไข่โจรสลัดที่ลอบตัดเสบียงและคร่าชีวิตชาวเมาะตะมะ), “ดามพ์ ดัสกร” (สีหรั่น – สหายรบคู่ใจของเมงราชาญี), “อรรถพร สุวรรณ”, “สมศักดิ์ แก้วลือ”,”ไกรลาศ เกรียงไกร” (พระยาลอ – ผู้สำเร็จราชการที่ถูกส่งมาปกครองเมืองเมาะตะมะ) ฯลฯ
“ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อวสานหงสา” กล่าวได้ว่าคือบทสรุปส่งท้ายอย่างสมบูรณ์ของโปรเจกต์ภาพยนตร์ไทยที่คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่จะถูกจารึกลงในบันทึกอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยถึงวีรกรรมอันหาญกล้าของกษัตริย์นักรบผู้อันเป็นที่เคารพรักและศรัทธาของปวงชนชาวไทยมาตลอด 4 ศตวรรษ ผู้รวบรวมผืนแผ่นดินอโยธยาให้เป็นไทยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยถ่ายทอดบางส่วนของพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนสิ้นราชการของพระองค์โดยจบลงที่พระองค์ทรงสวรรคต
พร้อมประจักษ์ทุกสายตากับอภิมหาภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” กับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหัวใจคนไทย “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อวสานหงสา” 9 เมษายนนี้ ในโรงภาพยนตร์
King Naresuan 6 The Legend of King Naresuan 6 จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์ ดามพ์ ดัสกร ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อวสานหงสา ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ นพชัย ชัยนาม นาวาอากาศโท จงเจต วัชรานันท์ นิรุตติ์ ศิริจรรยา นเรศวร 6 ปราบต์ปฏล สุวรรณบาง พร้อมมิตรโปรดักชั่น พันเอก วินธัย สุวารี พันโท คมกริช อินทรสุวรรณ พันโท วันชนะ สวัสดี รณ ฤทธิชัย รัชนี ศิระเลิศ สรพงษ์ ชาตรี สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล อรรถพร สุวรรณ อวสานหงสา เกรซ มหาดำรงค์กุล เต็มฟ้า กฤษณายุธ