แม่เบี้ย (Maebia)
เรื่องย่อ
เบื้องลึกของความรัก ตัณหาราคะ
เหล่าคนบาป และความเร้นลับแห่งอสรพิษ
ทุกเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ชนะชล สุพรรณภูมิ” (ชาคริต แย้มนาม) ประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ผู้มั่งคั่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นเจ้าของ “เรือนไทยโบราณริมแม่น้ำ” ทำให้ “ภาคภูมิ” (จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร) เลขาคนสนิทได้พาเขาไปดูเรือนไทยโบราณที่ อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี ของ “เมขลา พลับพลา” (กานต์พิสชา เกตุมณี) เจ้าของบริษัท “เมขลาทัวร์” ซึ่งเป็นเพื่อนหญิงรุ่นพี่ของภาคภูมิ
ที่นั่น ชนะชลเกิดความลุ่มหลงในความเร้นลับของบรรยากาศเรือนไทยโบราณแห่งนั้น รวมทั้งเสน่ห์อันยั่วยวนใจของเมขลาเจ้าของบ้าน ทำให้ทั้งสองติดต่อกันเรื่อยมาจนก้าวข้ามไปสู่ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวอย่างลึกซึ้ง และที่เรือนไทยแห่งนี้ ชนะชลได้ค้นพบขนบธรรมเนียนประเพณีไทยที่บ้านนั้นรักษาไว้อย่างเคร่งครัดพร้อมกับความลึกลับที่มี “งูเห่ายักษ์”แฝงเร้นความน่าสะพรึงกลัวในบ้านนั้น และคอยจับจ้องทำร้ายเขาในทุกขณะจิต
และที่นี่เขาก็ได้พบกับ “ลุงทิม” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) คนเก่าแก่แห่งครอบครัวพลับพลาผู้เฝ้าดูแลและกุมความลับเหนือธรรมชาติของเรือนไทยโบราณแห่งนี้ ซึ่งชนะชลรู้สึกคุ้นเคยกับชายชราผู้นี้เป็นพิเศษราวกับเคยรู้จักกันมาแต่เก่าก่อน รวมถึงการล่วงรู้ความลับดำมืดในบ้านเรือนไทยหลังนี้ที่ได้สร้างความปวดร้าวใจแก่ “คุณโกสุม” (อาภา ภาวิไล) มารดาของเมขลาเป็นยิ่งนัก ซึ่งมันอาจจะเกี่ยวพันกับปริศนาชีวิตในอดีตของเขาที่ยังไม่อาจคลี่คลาย
ยิ่งเวลาผ่านไป สัมพันธ์สวาทของชนะชลและเมขลาก็ยิ่งดำดิ่งเป็นปมลึก และนั่นได้นำพาทั้งคู่และคนรอบข้างไปสู่หายนะแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็น “ไหมแก้ว” (ภัทรนันท์ รวมชัย) ภรรยาของชนะชลที่ไม่อาจยอมรับการนอกใจของสามีได้ และ “พจน์” (ชัยวัฒน์ ทองแสง) เพื่อนสนิทและคู่ขาของเมขลาที่หึงหวงอย่างรุนแรงต่อการปันใจของเธอให้ชายอื่น
รวมถึง “คุณ” (งูเห่ายักษ์) ที่ปรากฏตัวให้ชนะชลและเมขลาเห็นบ่อยขึ้น และแสดงอำนาจเร้นลับมากขึ้นทุกที ราวกับจะดึงสติทั้งคู่ให้กลับมาอยู่ในทำนองคลองธรรม
ก่อนที่เรื่องราวทุกอย่างจะพลิกผันจบลงด้วยการแก้แค้น, ชำระบาป และความตาย เมขลาจึงจำต้องคลี่คลายปัญหาด้วยการตัดใจลา ยุติความสัมพันธ์กับชนะชลอย่างเด็ดขาด เพื่อมิให้งูเห่ายักษ์พรากชีวิตของเขาไป ในขณะที่ชนะชลเองก็ได้ค้นพบรากเหง้าชีวิตอันเป็นต้นกำเนิดของเขาไปพร้อมๆ กับตระหนักถึงบาปที่ตนก่อไว้เช่นกัน…
“งู” คืออะไร
เป็นที่กล่าวขาน ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักคิดและนักอ่าน รวมทั้งผู้ชมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ นับตั้งแต่วรรณกรรมเรื่อง “แม่เบี้ย” ของ “วาณิช จรุงกิจอนันต์” ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นนวนิยาย และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้ง 2 ครั้ง และละครโทรทัศน์อีก 1 ครั้ง ว่า “งู” ในเรื่องนี้คืออะไรกันแน่
บ้างก็ว่าเป็นตัวร้าย บ้างก็ว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษของเมขลาผู้มาพิทักษ์ศีลธรรมจรรยาของเมขลา หรือบ้างก็ว่าเป็นจิตสำนึกในคุณงามความดีของเมขลา ฯลฯ ทำให้ “งู” ถูกตีความหมายไปอย่างหลากหลายไปตามวิจารณญาณของผู้วิพากษ์ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ “งู” นั้นเป็น “สัญลักษณ์” ของอะไรบางอย่างอันมีความหมายลึกซึ้งที่ผู้ประพันธ์ได้ซ่อนเอาไว้ภายใต้ตัวอักษรอันสลวยวิจิตรบรรจงของเขา
“งู” ตามคติของมนุษย์นับตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน มักจะถูกมองเป็นอำนาจของความชั่วร้าย ความน่าสะพรึงกลัว และเป็นศัตรูตัวฉกาจที่จะนำความหายนะมาสู่มวลมนุษยชาติซึ่งเราจะเห็นได้จากงูในสวนอีเดนซึ่งพรากความบริสุทธิ์ไปจากอาดัมและอีวาในคติของไบเบิลในโลกตะวันตก ส่วนในโลกตะวันออก “งูใหญ่” หรือ “พญานาค” นั้นนอกจากจะถูกมองเป็นสิ่งที่ทรงพลังอำนาจลึกลับ ประดุจกึ่งเทพกึ่งสัตว์แล้ว พญานาคในพุทธคติยังถูกมองว่า เป็นมหามิตรผู้ปกป้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากบ่วงภัยเพื่อเสด็จสู่พระสัมมาสัมโพธิญาณ และยังทูลขอบรรพชาเพื่อเป็นสมณเพศอีกด้วยจนต้องเกิดประเพณีบวชนาคจนถึงปัจจุบัน
ไม่ว่า “งู” จะถูกตีความหมายไปในทิศทางใด ความน่าสะพรึงกลัว ความลึกลับ และอำนาจอันทรงพลังแห่งพิษร้ายก็ยังเป็นคุณสมบัติที่ปรากฏอยู่ใน “แม่เบี้ย” ไม่ว่าในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในทุกยุคทุกสมัย
และในภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย” ในครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ “งู” อาจจะถูกตีความหมายให้แตกต่างไปตามยุคสมัย และรสนิยมของผู้ชมภาพยนตร์ในปัจจุบัน แต่การปรากฏตัวของ “คุณ” หรือ “งู” ใน “แม่เบี้ย” ก็จะปรากฏตัวออกมาในฉากที่ตัวละครเอก “คิด” ที่จะทำผิดศีลธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีงามดังที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องนี้นั่นเอง
วัตถุประสงค์ในการสร้างภาพยนตร์
- อนุรักษ์วรรณกรรมแห่งชาติและการอ่านหนังสือ
ในสังคมที่ความเจริญทางวัตถุโดยเฉพาะอย่างนวัตกรรมอินเทอร์เน็ต มีบทบาทสำคัญในชีวิตของชาวไทยจนเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชาวไทยอ่านหนังสือน้อยลงจนติดระดับโลก และที่น่าละอายเป็นที่สุดชาวไทยในยุคปัจจุบันรู้จักวรรณกรรมไทยน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีไทยจนอาจพูดได้ว่า “ไม่รู้จักเลย” ในคำนำของวรรณกรรมเรื่อง “แม่เบี้ย” นั้น “วาณิช จรุงกิจอนันต์” ได้เขียนไว้ว่า “การอ่านคือรากฐานสำคัญ” และนำเสนอคุณค่าของการอ่านวรรณคดีในบทสนทนาของ “ชนะชล” และ “เมขลา” ตัวละครเอกของเรื่องอันเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งคู่
- อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแห่งความเป็นไทย
นอกจากคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย“ ยังสะท้อนถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีงามของชาวไทย อาจพูดได้ว่า “บ้านเรือนไทยโบราณ” ของเมขลาที่บางปลาม้า สุพรรณบุรี ตัวละครเอกของเรื่องเป็น “สัญลักษณ์” ของ “ความเป็นไทย” ที่กำลังจะสูญสลายไปในโลกของวัตถุ และตัวละครเมขลาและชนะชลต่างก็เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่รักและหวงแหนในความเป็นไทย ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปรไปตามกระแสโลก ซึ่งจะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของอาหารแบบไทยเดิม การอนุรักษ์พรรณไม้ไทย การแต่งกายแบบไทย ตลอดจนศิลปะการแสดงการเชิดหุ่น ฯลฯ ซึ่งปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตที่เรือนไทยโบราณของเมขลา
- อนุรักษ์ศีลธรรมอันดีงาม
ตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย“ ทุกตัวล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของ “คนบาป“ ที่ผิดศีลธรรมซึ่งไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของคนไทยในยุคโลกาภิวัตน์นี้ที่เห็นว่าคำสอนในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ “เชย” และ “ตกยุค” จนไม่เห็นความสำคัญของบาปบุญคุณโทษจนก่อให้เกิดปัญหาในสังคมทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัวหรือระดับประเทศชาติ ซึ่ง “ความหายนะ” ของตัวละครเอกในตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำต่อผู้ชมว่า การประพฤติผิดศีลธรรมจรรยานั้นจะส่งผลร้ายเช่นไรกับชีวิต ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก “ละอายต่อบาป” ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์สูงส่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน
- ตีแผ่ธาตุแท้ของมนุษย์
การกระทำของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็น “กุศลกรรม” หรือ “อกุศลกรรม” ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลของการกระทำนั้นๆ เป็นแรงผลักดัน (Motivation) เสมอ และมักจะมีเหตุจากสภาวะแวดล้อมและประสบการณ์ชีวิตจาก “อดีต” เสมอไม่ว่าจะเป็นอดีตชาติหรือชาติปัจจุบัน “ตัวละคร” สำคัญทุกตัวในละครเรื่องนี้ล้วนแล้วแต่มี “ปม“ ในจิตใจอันเกิดจากสภาวะครอบครัวในอดีต ซึ่งส่งผลให้เขาเหล่านั้นต้องประพฤติตนผิดบาปและผิดกรอบประเพณีอย่างอภัยให้ไม่ได้ จนชะตากรรมของเขาต้องประสบกับหายนะในต่างกรรมต่างวาระกันไป
Maebia กานต์พิสชา เกตุมณี จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร ชัยวัฒน์ ทองแสง ชาคริต แย้มนาม ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ อาภา ภาวิไล เพ็ญเพชร เพ็ญกุล แม่เบี้ย