พันท้ายนรสิงห์ (Pantainorasingh)
เรื่องย่อ
จากบทพระราชนิพนธ์อิงประวัติศาสตร์ของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล”
ที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาตลอด 70 ปี
พร้อมถ่ายทอดสู่ภาพยนตร์ไทยเรื่องยิ่งใหญ่ส่งท้ายปีพุทธศักราช 2558
“พันท้ายนรสิงห์”
เขียนบทและกำกับภาพยนตร์โดย “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล”
ยึดความสัตย์ซื่อ ถือความหาญกล้า และนำมาซึ่งความภักดี
มิตรภาพความรักและความเสียสละของกษัตริย์ผู้ห้าวหาญและข้าพระบาทผู้สละได้แม้ชีวิต
ครั้งแรกของการเผชิญหน้าและปะทะบทบาทสุดเข้มข้นของ 2 ซูเปอร์สตาร์ชายแห่งยุค
“พันโทวันชนะ สวัสดี” พลิกคาแร็กเตอร์และจิตวิญญาณสวมบท “พระเจ้าเสือ”
“เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์” ถือสัตย์ ยึดหัวใจเป็น “พันท้ายนรสิงห์”
พร้อมด้วยนักแสดงสาว “มัดหมี่-พิมดาว พานิชสมัย” ทุ่มสุดตัวกับบทบาท “นวล” เจ้าของหัวใจรักที่ต้องเสียสละ
พร้อมทัพนักแสดงคุณภาพระดับแถวหน้าของเมืองไทยกว่าร้อยชีวิต…
ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 30 ธันวาคม 2558 ในโรงภาพยนตร์
ปีพุทธศักราช ๒๒๓๑ หลัง “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” (สุเชาว์ พงษ์วิไล) เสด็จสวรรคต “พระเพทราชา” (สมภพ เบญจาธิกุล) ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา และทรงแต่งตั้ง “พระเจ้าเสือ” (พันโทวันชนะ สวัสดี) ผู้เป็นพระราชโอรสบุญธรรมขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บภาษีอากร แต่เพราะผู้ดำเนินการเก็บภาษีอย่าง “พระยาราชสงคราม” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ชอบแอบอ้างชื่อพระเจ้าเสือในการรีดนาทาเร้นราษฎรจนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า “พระพิชัย” (สรพงษ์ ชาตรี) เจ้าเมืองวิเศษชัยชาญ อดีตราชองครักษ์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงซ่องสุมผู้คนซึ่งนำโดย “ไอ้สิน” (เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์) ออกปล้นทรัพย์คืนจากกองทหารหลวง เมื่อความทราบถึงพระเจ้าเสือ พระองค์จึงทรงปลอมเป็น “ทิดเดื่อ” ชาวบ้านต่างเมืองออกสืบความจริง ณ แขวงวิเศษชัยชาญ พร้อมกับ “ทองอ่อน” (เสนาลิง-สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์)
การสืบหาความจริงครั้งนี้ทำให้พระเจ้าเสือต้องพระทัยสาวสวยเมืองวิเศษชัยชาญอย่าง “นวล” (มัดหมี่-พิมดาว พานิชสมัย) ติดที่ว่าไอ้สินก็เป็นผู้หนึ่งที่มีใจให้นวลเช่นกัน การเปรียบมวยที่มีนวลเป็นเดิมพันจึงเกิดขึ้นระหว่าง “ทิดเดื่อ” และ “สิน” และตามติดด้วยการประลองแบบตาต่อตาฟันต่อฟันอีกหลายครา ไม่ว่าจะต่อยมวยคาดเชือก การแข่งพายเรือ หรือการแข่งกันจีบนวลก่อนกะลาจะจมน้ำ
ยิ่งเชือดเฉือนเอาชัยกันมากเท่าไหร่ กลับยิ่งมีเหตุการณ์ให้ทั้งคู่นับถือน้ำใจและมองเห็นนิสัยใจคอที่แท้จริงของกันมากขึ้นเท่านั้น จนถือสัตย์สาบานว่าจะเป็นมิตรแท้ที่ตายแทนกันได้ ด้วยคุณงามความดีที่สินทำให้กับทิดเดื่ออย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้ไม่รู้เลยว่าเพื่อนคนนี้แท้จริงคือกษัตริย์ เมื่อความจริงเปิดเผย “พระเจ้าเสือ” จึงพระราชทานยศให้สินขึ้นเป็น “พันท้ายนรสิงห์” มีหน้าที่ถือท้ายเรือพระที่นั่ง
ครั้นเมื่อพระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางชลมารค พันท้ายนรสิงห์ได้ล่วงรู้ถึงแผนการลอบปลงพระชนม์ของพระยาพิชัย เขาจึงต้องเลือกระหว่าง “เจ้าเหนือหัว” ที่เขามอบความจงรักภักดีให้แบบหมดหัวใจ หรือเลือกฝั่ง “พระพิชัย” ผู้มีพระคุณและเพื่อนพ้องชาววิเศษชัยชาญ และระหว่างการเอาตัวรอดเพื่อความรักหรือการพลีชีพเพื่อถือคำสัตย์ในหน้าที่ความรับผิดชอบ
เตรียมพบภาพยนตร์ไทยแอคชั่น-โรแมนติกอิงประวัติศาสตร์ที่ได้รับการเล่าขานและเทิดทูนมาจนปัจจุบันถึงนายท้ายผู้ซื่อสัตย์และเต็มเปี่ยมด้วยความจงรักภักดี ยอมสละได้แม้แต่ศีรษะและชีวิตตัวเองเพื่อความถูกต้องและกษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งได้ยืนหยัดปกครองราษฎรในแผ่นดินด้วยความร่มเย็น
“พันท้ายนรสิงห์” 30 ธันวาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ
เกร็ดภาพยนตร์:
- จาก “สุริโยไท” (2544) และ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (2550-2558) สู่ “พันท้ายนรสิงห์” ฉบับปีพุทธศักราช 2558 ด้วยผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับล่าสุดของ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” ดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ของ “พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล” ซึ่งเคยถูกถ่ายทอดเป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดเมื่อปีพุทธศักราช 2487 โดย “คณะศิวารมณ์”
- “น้ำตาแสงไต้” บทเพลงรักสุดคลาสสิกซึ่งแต่งคำร้องโดย “มารุต” และ “เนรมิต” ทำนองโดย “ครูสง่า อารัมภีร” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปีพุทธศักราช 2531 (มีผลงานประพันธ์เพลงมากกว่า 2,000 เพลง รวมทั้งเพลงประกอบละครและภาพยนตร์กว่า 250 เรื่อง เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงอมตะหลายเพลงรวมทั้ง “เรือนแพ”) และในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ “กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ” มาถ่ายทอดเพลงรักสุดคลาสสิกนี้
- กว่า 70 ปีนับตั้งแต่บทพระราชนิพนธ์สุดคลาสสิกเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ของ “พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล” ได้รับการถ่ายทอดสู่สาธารณชนครั้งแรกก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบละครเวทีในพ.ศ. 2487 ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง, ในรูปแบบภาพยนตร์ 16 มม. ในพ.ศ. 2493 ก็กลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์ทันทีเมื่อออกฉายจากการกวาดรายได้มหาศาลกว่า 5 ล้านบาทในยุคนั้นพร้อมยืนโรงฉาย ณ ศาลาเฉลิมกรุงยาวนานกว่า 3 เดือน ก่อนถูกนำกลับมาฉายใหม่อีก 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2501, 2509 และ 2517 ทั้งได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 25 ภาพยนตร์ที่ได้รับ “การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2558” อีกด้วย
- นับตั้งแต่ “พันท้ายนรสิงห์” ปรากฏสู่สายตาผู้ชมเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2487 ก่อนที่เรื่องราวความรัก ความซื่อสัตย์ ความหาญกล้า ตลอดจนมิตรภาพและความผูกผันที่ยิ่งใหญ่และแสนอมตะของ “พันท้ายนรสิงห์ ,พระเจ้าเสือ และ นวล” จะถูกถ่ายทอดผ่านรูปแบบละครเวที, ภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ ฯลฯ ในอีกหลายครั้ง โดยมีนักแสดงระดับยอดฝีมือชั้นแนวหน้าของเมืองไทยในแต่ละยุค อาทิ บท “พระเจ้าเสือ” (จอก ดอกจันทร์, ถนอม อัครเศรณี, สมบัติ เมทะนี, พิศาล อัครเศรณี, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) บท “พันท้ายนรสิงห์” (สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, ชูชัย พระขรรค์ชัย, สรพงษ์ ชาตรี, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, ธีรภัทร์ สัจจกุล) และบท “นวล” หญิงอันเป็นที่รักยิ่ง (สุพรรณ บูรณะพิมพ์, อาภาพร กรทิพย์, นาถยา แดงบุหงา, พิยดา อัครเศรณี)
- “พันท้ายนรสิงห์” ฉบับปี 2558 นี้ ได้เลือก 3 นักแสดงแม่เหล็กมารับบทหลัก “ผู้พันเบิร์ด-พันโทวันชนะ สวัสดี” กับการพลิกบทบาทแบบ 360 องศาในบท “พระเจ้าเสือ” / “เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์” กับบททหารผู้ซื่อสัตย์ “พันท้ายนรสิงห์” ที่พร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่และถวายชีวิตให้กษัตริย์ที่ตนมอบความจงรักภักดีให้ และ “มัดหมี่-พิมดาว พานิชสมัย” กับบท “นวล”
- กว่า 2 ปีในการค้นคว้าหาข้อมูล และการเตรียมงานสร้างก่อนการถ่ายทำ ยังไม่รวมการที่เหล่านักแสดงต้องผ่านการติวเข้มและฝึกฝนอย่างหนักภายใต้หลักสูตร “โรงเรียนท่านมุ้ย” โดยมีครูฝึกและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาร่วมถ่ายทอดเพื่อบ่มเพาะร่างกายและจิตใจให้เหล่านักแสดงได้เรียนรู้เข้าถึงตัวละคร อุปนิสัย ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต การใช้อาวุธ ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ต่างๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับนักแสดง โดยใช้กระบวนการและขั้นตอนเดียวกันกับที่ทีมนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ได้ผ่านการเรียนรู้ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการถ่ายทำอีก 1 ปีเต็ม
- เพื่องานแอคชั่นที่ตื่นตาตื่นใจสมจริง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ “อาจารย์ยอดธง” ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมวยไทยและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “องค์บาก” (2546) มารับผิดชอบในการฝึกสอนแม่ไม้มวยไทยให้กับ “ผู้พันเบิร์ด” และ “เต้ย พงศกร” อย่างเข้มข้น ที่ผู้ชมจะได้สัมผัสกับฉากแอคชั่นชกมวยคาดเชือกระหว่าง “พระเจ้าเสือ” และ “พันท้ายนรสิงห์” รวมไปถึงมีส่วนสำคัญในฉากแอคชั่นอีกหลากหลายฉากที่โชว์ศิลปะแม่ไม้มวยไทยให้กับเหล่านักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมได้เหล่าผู้เชี่ยวชาญในการใช้ดาบและอาวุธโบราณจาก “สำนักดาบพุทไธสวรรย์” มาทำการฝึกสอนการใช้อาวุธไทยโบราณให้กับเหล่านักแสดงในภาพยนตร์อีกด้วย
- “พันท้ายนรสิงห์” ได้รับเกียรติจาก “แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปีพ.ศ. 2539 มาทำการฝึกซ้อมการร้องเพลงฉ่อย, เพลงเรือให้กับนางเอกของภาพยนตร์อย่าง “มัดหมี่ พิมดาว” พร้อมกลุ่มนักแสดงหญิงและชายในเรื่อง รวมทั้ง “เต้ย พงศกร” ที่ได้ “อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี” นักดนตรีผู้เชี่ยวชาญและมีความสามารถในประเภทเครื่องเป่า และ “ครูประวิทย์ ศรีแจ่ม” มาทำการสอนการเป่าขลุ่ยให้สมกับเป็น “สิน แห่งเมืองวิเศษชัยชาญ” ที่โดดเด่นทุกทางทั้งเตะต่อยและดนตรี
- เตรียมพบการรวมตัวของทัพนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ในภาพยนตร์แอคชั่น-ประวัติศาสตร์ปิดท้ายปี 58 ผลงานล่าสุดของ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” ไม่ว่าจะเป็น “พันโทวันชนะ สวัสดี, เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์, มัดหมี่-พิมดาว พานิชสมัย, สรพงษ์ ชาตรี, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, พิมลรัตน์ พิศลยบุตร, สมภพ เบญจาธิกุล, พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์, ธัญญา วชิรบรรจง, ไพโรจน์ ใจสิงห์, รณ ฤทธิชัย, วิชุดา มงคลเขตต์, เสนาลิง-สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์, ชลัฏ ณ สงขลา, ปราปต์ปฏล สุวรรณบาง, สุรชัย จันทิมาธร, สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์, ไชยา มิตรชัย, สุเชาว์ พงษ์วิไล, เขาทราย แกแล็คซี่, อภิชาติ อรรถจินดา, รุ่งทิวา คงสนุ่น, อัสนี สุวรรณ, ไกรลาศ เกรียงไกร, จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา, สมเดช แก้วลือ, มรกต หทัยวสีวงศ์, ฝนพา สาทิสสะรัต, ราชวัติ ขลิบเงิน, วิศว ทัพพะรังสี, ร.อ.ณยศ เสาว์ทองหยุ่น, วัชรพล พลายด้วง, ปฐมรัตน์ ศิริทรัพย์, กมลลักษณ์ วังแก้ว, ทินธนัท เวลส์ช, อนุชา ณ สงขล, ยงยศ โกมลเพ็ชร, สมชาติ ประชาไทย, หม่อมเหยิน-ประสิทธิ์ เทศทะวงศ์, ณรงศักดิ์ ปักษี, ต่อลาภ กำพุศิริ และอีกมากมายนับร้อยชีวิต
Director’s Note “ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล”
มโนมอบพระผู้ เสวยสวรรค์
แขนมอบถวายทรงธรรม์ เทอดหล้า
ดวงใจมอบเมียขวัญ และแม่
เกียรติศักดิ์รักข้า มอบไว้แก่ตัว
อันนี้พูดไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องเลยเป็นโคลงที่รัชกาลที่ ๖ ทรงเขียนไว้ ซึ่งตรงกับในเรื่องนี้ แล้วทุกอย่างนี้เกี่ยวกับความรักทั้งหมด
เรื่องแรกเลยคือรักแผ่นดิน รักพระเจ้าแผ่นดิน รักพ่อแม่ รักเมีย และท้ายที่สุดคือรักเกียรติศักดิ์ของตัวเอง…
Pantainorasingh จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา ชลัฏ ณ สงขลา ธัญญา วชิรบรรจง น้ำตาแสงไต้ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ปราปต์ปฏล สุวรรณบาง พงศกร เมตตาริกานนท์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล พันท้ายนรสิงห์ พันโทวันชนะ สวัสดี พิมดาว พานิชสมัย พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ พิมลรัตน์ พิศลยบุตร รณ ฤทธิชัย รุ่งทิวา คงสนุ่น วิชุดา มงคลเขตต์ สมภพ เบญจาธิกุล สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์ สรพงษ์ ชาตรี สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ สุรชัย จันทิมาธร สุเชาว์ พงษ์วิไล หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล อภิชาติ อรรถจินดา อัสนี สุวรรณ เขาทราย แกแล็คซี่ ไกรลาศ เกรียงไกร ไชยา มิตรชัย ไพโรจน์ ใจสิงห์