ต้มยำกุ้ง (Tom Yum Goong / The Protector)

วันเข้าฉาย: 11/08/2005 แอ็กชัน 01 ชั่วโมง 50 นาที

เรื่องย่อ

ภาพยนตร์แอคชั่นที่มีคนรอคอยมากที่สุด

การกลับมาของ “จา พนม” และทีม “องค์บาก”

สู่ตำนานบทใหม่ที่จะถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์

“ต้มยำกุ้ง”

สิ้นสุดการรอคอย มันส์ระห่ำพร้อมกันทั่วประเทศ

11 สิงหาคม 2548

การแท็กทีมครั้งใหม่ของทีม “องค์บาก” ที่สร้างความประทับใจมาแล้วทั่วโลก

“ตำนานบทต่อไป” กำลังจะเริ่มต้นขึ้น กับการกลับมาของ จา พนม ยีรัมย์”

เพื่อตามหา “ศรัทธา” ที่ถูกช่วงชิงข้ามชาติอย่างไม่หวั่นเกรง

ดุเด็ด เผ็ดมัน ร้อนแรง ทะลุองศาเดือด

“ครั้งแรกบนแผ่นฟิล์ม” กับฉากแอคชั่นความยาว 4 นาที แบบไม่มีการตัดต่อ”

และ “ตำนานมวยคชสาร” ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

ของ “บุรุษผู้จารึกศิลปะการต่อสู้ยุคใหม่ลงในประวัติศาสตร์”

ระห่ำ มันส์ กับคู่ต่อกรใหม่นานาชาติ”

สุดอันตราย ทวิทวีคูณจนต้องตะลึงงัน

ในโลเคชันต่างแดนอย่าง “ซิดนีย์ ออสเตรเลีย” กว่าครึ่งเรื่อง

ด้วย “งบประมาณการถ่ายทำกว่า 300 ล้านบาท”

ภายใต้สโลแกนเดิมที่ไม่มีใครลอกเลียนได้

“ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ไม่ใช้ CG”

อีกครั้งที่ศิลปะการต่อสู้ของชาติไทยจะถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์

“ต้มยำกุ้ง”

ภาพยนตร์แอคชั่นเรื่องยิ่งใหญ่ที่จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในปี 2548

 

Tom-Yum-Goong-Poster01

 

ตั้งเครื่อง “ต้มยำกุ้ง”

 

การกลับมาแท็กทีมกันอีกครั้งของ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว, พันนา ฤทธิไกร, พนม ยีรัมย์  (โทนี จา) และ หม่ำ จ๊กม๊ก” ในภาพยนตร์แอคชั่นที่มาเพื่อสร้างปรากฏการณ์ทางรายได้ในระดับเมกาบล็อกบัสเตอร์ ทุ่มทุนสร้างกว่า 300 ล้านบาท สูงสุดรองจาก “สุริโยไท” (2544) ลงทุนยกกองไปถ่ายทำใน “ซิดนีย์ ออสเตรเลีย” พร้อมการมาถึงของแอคชั่นดีไซน์ที่สุดขั้วยิ่งกว่า “องค์บาก” (2546)

 

“ปรัชญา ปิ่นแก้ว” กล่าวถึง “ต้มยำกุ้ง” ผลงานการกำกับเรื่องที่ 4 นี้ว่า

 

“เมื่อพูดถึง ‘ต้มยำกุ้ง’ ต้องนึกถึงคนไทย ประเทศไทย ตอน ‘องค์บาก’ เราเคยพูดถึงมวยไทย และสิ่งที่คนไทยเคารพนับถือไปแล้ว เรื่องนี้ผมจะพูดถึงประเพณีอันดีงาม, วัฒนธรรม และความผูกพันของคนไทยกับ ‘ช้าง’ ที่คนต่างชาติส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า มันลึกซึ้งขนาดที่ว่า ช้างเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเรามาตั้งแต่สมัยอดีต และปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ และ ‘มวยไทย’ ที่มีความสัมพันธ์กับช้างซึ่งเป็นเอกลักษณ์คู่ชาติไทยมาเป็นเวลาช้านาน ในส่วนของ ‘จา พนม’ เรื่องนี้จะมีการใช้ท่ามวยไทยที่ชัดเจนขึ้น และมีท่ามวยที่ยังไม่มีให้เห็นในองค์บาก โดยเนื้อหายังคงเป็นเรื่องร่วมสมัย และจะได้เห็นมวยไทยต่อสู้กับวูซู, K1, แคปโปเอลา มีการเตรียมงานถ่ายทำที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับองค์บาก และเป็นการสานต่อมวยไทยที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งโลก”

 

“ต้มยำกุ้ง” เล่าเรื่องราวการเดินทางข้ามโลกของ “ขาม” (จา พนม ยีรัมย์) เด็กหนุ่มบ้านป่าที่ชีวิตต้องพลิกผันโดยเงื้อมือของผู้มีอิทธิพลระดับประเทศที่ลักพา “ช้างพลาย” สองพ่อลูก ซึ่งเด็กหนุ่มและพ่อของเขารักดั่งชีวิต และมีความมุ่งหมายอันสูงสุดที่จะมอบเป็นคชบาทแด่ในหลวงไปขาย ณ ประเทศออสเตรเลีย ทางเดียวที่จะช่วยเหลือและรักษาชีวิตของช้างอันเป็นที่รักของเขาได้ นั่นก็คือการบุกตะลุยถึงถิ่นเสือโดยการเดินทางข้ามโลก

 

เรื่องไม่ง่ายอย่างใจคิด  แม้เขาจะได้รับความช่วยเหลือจาก “จ่ามาร์ค” (หม่ำ จ๊กมก) นายตำรวจไทยและ “ปลา” (บงกช คงมาลัย) สาวไทยที่ถูกหลอกมาขายตัวในซิดนีย์ก็ตาม แต่ที่นั่น เขากลับต้องไปพัวพันกับการไล่ล่าของแก๊งมาเฟียที่นำโดย “มาดามโรส” (จิน ซิง) ที่ซ่องสุมลูกสมุนตัวเอ้ที่เต็มไปด้วยฝีมือทางการต่อสู้สุดยอดอย่าง “จอนนี่” (จอห์นนี่ เหงียน) และ “ทีเค” (นาธาน โจนส์) พร้อมลูกสมุนย่อยที่มีฝีไม้ลายมือทางการต่อสู้เหลือรับอย่าง “จอน ฟู” และ “ลาทีฟ” อย่างไม่ได้ตั้งใจ

 

ณ วินาทีนี้  การต่อสู้ข้ามชาติเพื่อเอาชีวิตรอดของเด็กหนุ่มและเพื่อนพ้องได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพื่อตามหาและช่วยเหลือ “พ่อใหญ่” และ “ขอน” ช้างพ่อลูกที่เปรียบได้กับญาติพี่น้องของเขา นำไปสู่บททดสอบและการต่อสู้ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาให้โลกได้ล่วงรู้ถึงอานุภาพของ “แม่ไม้มวยไทยบทใหม่” ที่หนักหน่วง รุนแรง และยังไม่เคยได้รับการเปิดเผยมาก่อน โดยเฉพาะ “ตำนานมวยคชสาร”

 

Tom-Yum-Goong-Still21-1

Tom-Yum-Goong-Still22

 

คลุกเคล้ารสชาติเผ็ดร้อนในแบบฉบับเข้มข้นกับเกร็ดปรุงรส “ต้มยำกุ้ง”

 

  • “ต้มยำกุ้ง” เป็นการกลับมาแท็กทีมกันครั้งที่ 3 ของ 5 ทหารเสือ “สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, ปรัชญา ปิ่นแก้ว, พนม ยีรัมย์ (โทนี จา), หม่ำ จ๊กมก และ พันนา ฤทธิไกร” หลังจาก “องค์บาก” (2546) และ “บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม” (2547) 
  • ด้วยตัวเลข “กว่า 300 ล้านบาท” ทำให้ “ต้มยำกุ้ง” กลายเป็นหนังไทยทุนสร้างสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เรื่องที่ 2 รองจาก “สุริโยไท” (2544) 
  • “เกือบ 2 ปี” คือเวลาที่ถูกใช้ไปในการสร้างภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่นี้ และ “กว่า 600 ม้วนฟิล์ม” ที่ถูกใช้เพื่อบันทึกภาพบอกเล่าเรื่องราวอันอลังการงานสร้างนี้
  • “กว่า 80 เปอร์เซนต์” ของโลเคชันหลักในเรื่องนี้คือ “เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย” ด้วยงบประมาณการถ่ายทำในส่วนนี้ “กว่าร้อยล้านบาท”
  • “ช้าง” และ “ศิลปะแม่ไม้มวยไทยโบราณ” ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองไทยถูกนำมาผสมผสานและถ่ายทอดเป็นท่ามวยที่หลักที่ใช้ในการต่อสู้ได้อย่างน่าทึ่งของ “จา พนม ยีรัมย์” ที่ห้ามกะพริบตา
  • เป็นครั้งแรกบนแผ่นฟิล์มที่จะถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกกับ “ฉากช้างไทยเดินบนสะพานฮาร์เบอร์บริดจ์” 
  • “จา พนม ยีรัมย์” เซอร์ไพรส์พิเศษเป็นของขวัญแฟนๆ ตอกย้ำความเป็น “พระเอกภาพยนตร์แอคชั่นอันดับ 1” ด้วยฉากแอ็คชั่นไฮไลต์โชว์ศิลปะการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง “One Long Take ด้วยความยาว 4 นาทีเต็มโดยไม่มีการตัดต่อ” ในฉากการต่อสู้กับเหล่าร้ายจากชั้น 1 ยันชั้น 4 ของร้านต้มยำกุ้ง
  • “เรือหางยาวพุ่งชนเฮลิคอปเตอร์” อีกหนึ่งฉากแอคชั่นดีไซน์ที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษของ “ต้มยำกุ้ง” โดย “พันนา ฤทธิไกร” เพื่อความมันส์ที่ยิ่งใหญ่กว่า “ฉากตุ๊กตุ๊กไล่ล่า” ใน “องค์บาก” (2546) 
  • ทีมงานลงทุนปิดเมือง “สุรินทร์” และ “บุรีรัมย์” เพื่อเนรมิต “ฉากงานสงกรานต์” ซึ่งถือเป็นประเพณีหนึ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจ ด้วยจำนวนตัวประกอบเกือบพันคนที่อลหม่านไปกับการไล่ล่าของช้าง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฉากแอคชั่นที่ผู้ชมจะได้พบ
  • อีกหนึ่งฉากใหญ่ที่ทีมงานทุ่มทุนสร้างและทุ่มเทใจนำเสนอคือ “ฉากแอคชั่นในวัดไทยในซิดนีย์” ที่ “จา พนม” จะต้องต่อกรกับคู่ปรับหลักๆ อย่าง “ลาทีฟ, จอน ฟู, นาธาน โจนส์” และลูกสมุนอื่นๆ ภายใต้ฉากหลังในวัดที่เปลวเพลิงกำลังโหมไหม้และสายน้ำกำลังฉีดพุ่ง ซึ่งเป็นการสอดประสานระหว่างน้ำ, ไฟ และฉากแอคชั่นที่ให้ภาพที่สวยงามและหาชมได้ยากยิ่ง
  • อีกหนึ่งฉากแอคชั่นที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมได้อย่างแน่นอนคือ “ฉากการต่อสู้ของเหล่าเอ็กซ์เกมที่รวมพลเป็นสิบมาห้ำหั่นกับเดี่ยวแม่ไม้มวยไทยของจา พนม”
  • “จอห์นนี่ เหงียน, นาธาน โจนส์, จินซิง, จอน ฟู, ลาทีฟ” นักแสดงและผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะการต่อสู้จาก “อเมริกัน-เวียดนาม, ออสเตรเลีย, จีน, อังกฤษ, บราซิล” ถูกเลือกให้มาเป็นคู่ปรับคนสำคัญของ “จา พนม ยีรัมย์” ในครั้งนี้
  • จับตาดูการดีไซน์คิวบู๊และฉากการต่อสู้ระหว่าง “แม่ไม้มวยไทย” ของ “จา พนม” กับ “K1” ของ “นาธาน โจนส์” นักมวยปล้ำ “WWA” และ “UPW” ชาวออสเตรเลียเจ้าของฉายา “เมกาแมน” 
  • “จอห์นนี เหงียน” ลูกครึ่งอเมริกัน-เวียดนาม นักกีฬาวูซูทีมชาติ 2 สมัย เชี่ยวชาญความสามารถทางศิลปะป้องกันตัวทุกรูปแบบ อาทิ “ไอคิโด, กังฟู, ไต้ชิ, ดาบ และ หอก” ฯลฯ รับบทผู้ดูแลร้านต้มยำกุ้ง คู่ปรับคนสำคัญของ “จา พนม”  
  • ครั้งแรกที่คนไทยจะได้ฟังเสียงซาวด์แทร็กภาษาอังกฤษอย่างเต็มพิกัด พร้อมคำบรรยายไทยของ “หม่ำ จ๊กมก” ในบท “จ่ามาร์ค” ตำรวจไทยในออสเตรเลียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
  • “ริค” ตำรวจหนุ่มคู่หูของหม่ำรับบทโดย “เดวิด อัศวนนท์” วีเจหนุ่มหลานชายของ “อมรา อัศวนนท์” นักแสดงหญิงรุ่นเก๋าแถวหน้าของไทย
  • “ต้มยำกุ้ง” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเสียงตอบรับจากชาวต่างชาติ และขายได้ในตลาดโลกตั้งแต่ยังไม่เปิดกล้อง

นักแสดง

พนม ยีรัมย์ (โทนี จา)
เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา (หม่ำ จ๊กม๊ก)
บงกช คงมาลัย
เดวิด อัศวนนท์
จิน ซิง (Xing Jin)
จอห์นนี เหงียน (Johnny Tri Nguyen)
นาธาน โจนส์ (Nathan Jones)
ลาทีฟ โครเดอร์ (Lateef Crowder)
จอน ฟู (Jonathan Patrick Foo)

ผู้กำกับ

ปรัชญา ปิ่นแก้ว

รางวัล

รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 15” (ประจำปี 2548) – สุพรรณหงส์เกียรติยศ (พนม ยีรัมย์, ปรัชญา ปิ่นแก้ว) / รางวัล “ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 14” – ภาพยนตร์ไทยทำรายได้สูงสุด (ต้มยำกุ้ง)


โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ