อุโมงค์ผาเมือง (The Outrage)

วันเข้าฉาย: 08/09/2011 ดราม่า, ลึกลับซ่อนเงื่อน 01 ชั่วโมง 42 นาที

เรื่องย่อ

จากสุดยอดบทละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” (ประตูผี) ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”

สู่ภาพยนตร์สุดตระการตาเรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” โดย “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล”

ฉลองครบรอบ “100 ปีชาตกาล พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”

“40 ปี บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด”

และ 101 ปี ผู้กำกับชั้นเซียน อากิระ คุโรซาวา” 

ประชันบทบาทสุดเข้มข้นของทีมนักแสดงชั้นนำ

มาริโอ้ เมาเร่อ / อนันดา เอเวอริงแฮม / เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ / พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง /

เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา / ดอม เหตระกูล / ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ / รัดเกล้า อามระดิษ

และนักแสดงสมทบอีกคับคั่ง

ร่วมค้นหาความจริงของมหาฆาตกามคดีแห่งโจรป่า นางบาป และขุนศึก

8 กันยายน 2554 ในโรงภาพยนตร์

 

 

มหาฆาตกามคดีแห่งโจรป่า นางบาป และขุนศึก

ปีพุทธศักราช 2110 ณ นครผาเมืองแห่งอาณาจักรเชียงแสนอันรุ่งเรือง วันหนึ่งหลังจากเกิดวิบัติการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ทั้งอัคคีภัยครั้งใหญ่หลวง แผ่นดินไหวอันรุนแรง และโรคร้ายระบาดคร่าชีวิตประชาชนไปกว่าครึ่งนคร ก็เกิดคดีฆาตกรรมปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้ “โจรป่าสิงห์คำ” (ดอม เหตระกูล) ผู้โหดร้ายที่สุดในแผ่นดินถูกจับได้ในคดีฆาตกรรม “ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า” (อนันดา เอเวอริงแฮม) และข่มขืน “แม่หญิงคำแก้ว” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ภรรยาของขุนศึกในป่านอกเมือง ขณะที่สองสามีภรรยาเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปเยี่ยมญาติที่นครเชียงคำ

 

จากคำให้การของโจรป่าและแม่หญิง สร้างความปั่นป่วนและพิศวงงงงวยให้แก่ “เจ้าผู้ครองนคร” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) และประชาชนผู้มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ต่างยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าตนเองเป็นผู้ฆ่าขุนศึก เจ้าหลวงจึงเรียก “ผีมด-ร่างทรง” (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงดวงวิญญาณของขุนศึกเพื่อค้นหาความจริง แต่แล้ววิญญาณของขุนศึกกลับให้การผ่านร่างทรงว่า ตนต่างหากที่ฆ่าตัวตายเอง!!!

 

เหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการพบเห็นและสนทนาของ “พระหนุ่ม” (มาริโอ้ เมาเร่อ), “ชายตัดฟืน” (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) และ “สัปเหร่อ” (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ภายใน “อุโมงค์ผีที่ผาเมือง” ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดทั้ง 3 คนจึงให้การปิดบังความจริงที่เกิดขึ้น

 

และ “ความจริง” ทั้งหมดคืออะไรกันแน่???

 

Outrage-Still01

 

เกร็ดภาพยนตร์:

1) ภาพยนตร์เรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” (2554) ดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” (2454-2538) ซึ่งเรียบเรียงและดัดแปลงจากเรื่องสั้น 2 เรื่องคือ Rashomon” (ประตูผี) และ “In a Grove” (ในป่าละเมาะ) ของนักประพันธ์ยอดฝีมือชาวญี่ปุ่น ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ” (2435-2470) อันเป็นที่มาของภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องดังก้องโลกอย่าง Rashomon” (2493) ผลงานการกำกับลำดับที่ 11 ของ “อากิระ คุโรซาวา” (2453-2541) จักรพรรดิแห่งภาพยนตร์ญี่ปุ่นนั่นเอง

 

2) สู่การเขียนบทสุดละเมียดและกำกับอย่างสุดวิจิตรตระการตาของผู้กำกับชั้นครู “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” เป็นผลงานลำดับที่ 10 ถัดจากภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง “เพลิงพิศวาส” (2527), “ช่างมันฉันไม่แคร์” (2529), “ฉันผู้ชายนะยะ” (2530), “นางนวล” (2530), “เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย” (2532), “ความรักไม่มีชื่อ” (2533), “มหัศจรรย์แห่งรัก” (2538), “อันดากับฟ้าใส” (2540) และ “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2553) 

 

3) ละครเวทีเรื่อง “ราโชมอน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกแสดงอย่างเป็นทางการถึง 4 ครั้ง ในรอบ 27 ปี ดังนี้

  • ครั้งแรก (10 มีนาคม พ.ศ. 2508) หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำแสดงโดย สุพรรณ บูรณะพิมพ์, อาคม มกรานนท์, อาจิต รัศมิทัต, สาหัส บุญ-หลง, มาลี เวชประเสริฐ, มนัส บุณยเกียรติ, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
  • ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2515) ที่หอประชุมเอยูเอ จัดโดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำแสดงโดย จันทรา ชัยนาม ฯลฯ กำกับการแสดงโดย เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง (นักวิจารณ์ละครและภาพยนตร์ “มุมสูง” นิตยสารมติชนรายสัปดาห์ในปัจจุบัน)
  • ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2529) ที่โรงละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำแสดงโดย อรชุมา ยุทธวงศ์, ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง, ม.ร.ว. อุษณิษา สุขสวัสดิ์ ฯลฯ กำกับการแสดงโดย อะสา สะกอสกี้ (นักแสดงละครบรอดเวย์จากนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา)
  • ครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2535) ที่มณเฑียรทองเธียเตอร์ โรงแรมมณเฑียร นำแสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, ธัญญา โสภณ, รวิวรรณ จินดา, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ฯลฯ กำกับการแสดงโดย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (ออกแสดงในโรงละครอาชีพครั้งแรก ทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ ยาวนานถึง 3 เดือน รวม 72 รอบ)

 

4) ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Rashomon” ของผู้กำกับอากิระ คุโรซาวา ออกฉายครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2493 ก่อนที่จะเดินทางไปฉายประกวดและคว้ารางวัลจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส” ที่ประเทศอิตาลี พ.ศ. 2494 และเข้าฉายที่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2494 ก่อนที่จะได้เข้าชิงและคว้ารางวัลอีกหลายสถาบัน รวมถึง “รางวัลออสการ์เกียรติยศ” (Honorary Award) เมื่อปี พ.ศ. 2495 อีกด้วย

 

5) ระดมทีมนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น “มาริโอ้ เมาเร่อ, อนันดา เอเวอริงแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, ดอม เหตระกูล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, รัดเกล้า อามระดิษ” และนักแสดงสมทบอีกมากมายมาประชันบทบาทสุดเข้มข้นเป็นครั้งแรก ในเรื่องราวสนุกชวนติดตามที่สอดแทรกเนื้อหาสาระไปตลอดทุกอณูภาพยนตร์

 

6) “อุโมงค์ผาเมือง” เลือกสรรอย่างละเอียดและถ่ายทำในหลากหลายสถานที่สวยงามแปลกตาที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในภาพยนตร์ไทย อาทิ ถ้ำเชียงดาว, วัดอุโมงค์, น้ำตกหมอกฟ้า, ม่อนล่อง, ม่อนแจ่ม ดาราเทวี จ.เชียงใหม่, พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง และเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

 

7) ผ่านการสร้างสรรค์จากทีมงานเบื้องหลังมืออาชีพในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบงานสร้างอย่างวิจิตรตระการตาในทุกฉาก, การกำกับภาพและจัดแสงสุดละเมียดงดงามในทุกเฟรมภาพ, งานออกแบบเครื่องแต่งกายล้านนาสุดประณีตทุกชุด, การเมกอัปสุดบรรจงในทุกตัวละคร รวมถึงดนตรีประกอบสุดขลังทุกบรรยากาศภาพยนตร์ เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดและตราตรึงผู้ชมไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องอย่างสุดประทับใจ

 

Outrage-Still15

 

บันทึกผ่านอุโมงค์ผาเมือง:

จริงๆ แล้วเรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” เป็นเรื่องจำลองของโลกในยุคปัจจุบันนี้เอง คือเมื่อมนุษย์เป็นทาสวัตถุ ทาสเงิน และทาสเกียรติยศ และก็มีอัตตาสูงคือยึดตัวตนเท่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ ปากท้องเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญโดยไม่นึกถึงการให้ซึ่งกันและกัน ไม่เคยคิดถึงการบริสุทธิ์ของจิตใจ อะไรฉกฉวยได้ฉกฉวยเอา ศาสนาก็ทำบุญไปงั้นๆ ทุกคนก็อยู่กับธุรกิจส่วนตัวตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน เงินคือพระเจ้า ตอนนี้มันเหมือนกับเป็นยุคเสื่อมที่สุดของโลก ซึ่งมันก็เป็นแก่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าทำไมตัวละครทั้ง 3 ถึงให้การว่าตัวเองเป็นผู้ผิดหมด มันก็ง่ายๆ คือทุกคนก็อัตตาสูง มักจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีให้กับตัวเอง ก็ไม่แตกต่างอะไรจากมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวงการบันเทิงที่ออกสื่อต่างๆ เพื่อพูดถึงภาพลักษณ์ตัวเองในแง่ที่อยากจะให้คนอื่นเห็นตัวเองเป็นเช่นไร

 

มนุษย์เราก็มีทั้งดีและไม่ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ มนุษย์อยากจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เป็นฮีโร่ให้ทุกคนกล่าวขวัญถึงไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง คุณเก่งมาก รวยมาก มีอำนาจมาก ขอให้เป็นคนพิเศษของประเทศเข้าว่า เขาก็จะมีความสุขในเบื้องหลังความพิเศษเหล่านั้น จะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์สักคนเดียว

 

การชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการเกิดเป็นคนไม่มีใครสมบูรณ์ และความสมบูรณ์เป็นไปได้แค่ความคิดฝันเท่านั้น ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้  เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสมมติขึ้น การเล่าแต่ละครั้งเป็นเรื่องคิดฝันของแต่ละตัวละครที่อยากให้คนอื่นมองตัวเองเป็นเช่นนั้นในบทบาทที่ตัวเองต้องการ

 

อีกประเด็นหนึ่งคือต้องฟัง มันเป็นหนังไดอะล็อก ความคมคายของไดอะล็อก ความลึกซึ้ง ความหมายที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจอะไร คือถ้าฟังก็จะสนุกกับบทสนทนา ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยศิลปะหลายๆ ด้านมาประกอบกัน ไม่ใช่ศิลปะภาพยนตร์ที่ว่ากันด้วยภาพเพียงอย่างเดียว บทสนทนาก็มีความหมาย สีก็มีความหมาย บรรยากาศก็สื่อความหมาย ศิลปะการแสดงที่สูงส่งที่มีทั้งธรรมชาติและไม่ธรรมชาติก็มีความหมาย คือเหมือนเป็นศิลปะชิ้นหนึ่งที่ไม่ต้องคิดมากนัก แค่นี้ก็จะดูหนังสนุก และก็มีหลากหลายรสชาติ สนุก ตลก ตื่นเต้น บู๊ รัญจวนจิต มีทุกอารมณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มันดูไม่ยาก แต่คุณเป็นคนช่างสังเกตหรือเปล่า ถ้าคุณมัวดูแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณจะไม่ได้อะไรจากมันเลย แต่สำหรับเราในแง่คนที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ คนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าอยากเข้าวัด อยากทำบุญ แค่นี้เราก็ถือว่าการทำหนังเรื่องนี้ของเราประสบความสำเร็จแล้ว

 

Outrage-Still16

 

ประวัติและผลงานผู้กำกับ:

“ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” หรือ “หม่อมน้อย” ของคนในวงการบันเทิง เป็นผู้กำกับภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ และละครเวทีที่มีผลงานโดดเด่น, แปลกใหม่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ทั้งยังเป็นผู้เขียนบทและอาจารย์สอนวิชา Directing และ Acting ระดับสากลที่ได้รับความไว้วางใจในฝีมืออย่างถึงที่สุด

 

ผลงานกำกับภาพยนตร์:

  • เพลิงพิศวาส (2527) ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย)
  • ช่างมันฉันไม่แคร์ (Dame it! Who care – 2529) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม / ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม / ได้รับการคัดเลือกไปฉายโชว์ในงาน London Films Festival และ Berlin Films Festival
  • ฉันผู้ชายนะยะ (Boy in the Band – 2530) – ได้ฉายใน Gay Film Festival ที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ปี 2532
  • นางนวล (The Seagull – 2530) – ได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียในปี 2531 ใน Asian Films Festival ที่ไต้หวัน / เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย
  • เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532)          
  • ความรักไม่มีชื่อ (2533)
  • มหัศจรรย์แห่งรัก (2538) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดาราประกอบชายยอดเยี่ยม (วิลลี่ แมคอินทอช), ดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม (วราพรรณ หงุ่ยตระกูล), กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  • อันดากับฟ้าใส (2540) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  • ชั่วฟ้าดินสลาย (Eternity – 2553) – ผลงานหวนคืนวงการนั่งแท่นผู้กำกับภาพยนตร์อีกครั้ง โดยเรื่องนี้ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลทุกสถาบัน และสามารถกวาดรางวัลจากสถาบันใหญ่ๆ ทั้งสาขาภาพยนตร์, นักแสดง และทีมงานเบื้องหลังมานับไม่ถ้วน

 

ผลงานกำกับละครโทรทัศน์:

  • ช่างมันฉันไม่แคร์ (ช่อง 5), แผ่นดินของเรา (ช่อง 5), ซอยปรารถนา 2500 (พ.ศ. 2539, ช่อง 7), เริงมายา (พ.ศ. 2540, ช่อง 7), ปีกทอง (พ.ศ. 2542, ช่อง 7), ลูกทาส (พ.ศ. 2543, ช่อง 5), คนเริงเมือง (พ.ศ. 2544, ช่อง 5), มหัศจรรย์แห่งรัก (พ.ศ. 2545, ช่อง 7), ทะเลฤาอิ่ม (พ.ศ. 2546, ช่อง ITV), สี่แผ่นดิน (พ.ศ. 2546-2547, ช่อง 9), ในฝัน (พ.ศ. 2547-2548, ช่อง 9)

 

ผลงานกำกับละครเวที:

  • All My Son ของ Arthur Miller (แสดงที่หอประชุม AUA พ.ศ. 2517)
  • บัลเลต์พระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” (แสดงที่โรงละครแห่งชาติ พ.ศ. 2518)
  • The Lower Depth ของ Maxim Gorgy (แสดงที่โรงละครคณะอักษรศาตร์ จุฬาฯ และโรงละครแห่งชาติ พ.ศ. 2517 และ 2518)
  • Impromptu (แสดงที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน พ.ศ. 2520)
  • Les Malentandu ของ Albert Camus (แสดงที่หอประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2524)
  • เทพธิดาบาร์ 21 (แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง พ.ศ. 2529)
  • One Flew Over the Cuckoo’s Nest (แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง พ.ศ. 2530)
  • ผู้แพ้ผู้ชนะ (แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง พ.ศ. 2532)
  • พรายน้ำ (แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง พ.ศ. 2533)
  • ราโชมอน (แสดงที่โรงละครมณเฑียรทอง พ.ศ. 2534)
  • ปรัชญาชีวิต (แสดงที่ตึกร้าง บ.แปลนอคิวเท็ก, เชียงใหม่ สปอร์ตคลับ, ม.ขอนแก่น พ.ศ. 2531-2533)
  • พระผู้เป็นดวงใจ ของโรงเรียนสวนจิตรลดา (แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2529)
  • แฮมเลต เดอะ มิวสิเคิล (แสดงที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2538)

 


นักแสดง

มาริโอ้ เมาเร่อ
อนันดา เอเวอริงแฮม
เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา
ดอม เหตระกูล
ศักราช ฤกษ์ธำรงค์
รัดเกล้า อามระดิษ

ผู้กำกับ

ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

รางวัล

รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 21” (ประจำปี 2554) – ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (นพดล เตโช), เทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม (อาทยา บุญสูง) / รางวัล “ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 20” (ประจำปี 2554) – นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (รัดเกล้า อามระดิษ)


โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ