มนุษย์เหล็กไหล (Mercury Man)

วันเข้าฉาย: 10/08/2006 แฟนตาซี, แอ็กชัน 01 ชั่วโมง 41 นาที

เรื่องย่อ

แรงศัทธาจะเปลี่ยนคนธรรมดาให้เหนือคน

 

การนำเอาแนวคิดทางด้าน “พุทธปรัชญาแห่งเอเชีย” และ “เหล็กไหล” วัตถุธาตุที่เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจอันทรงอานุภาพและขุมพลังลึกลับที่เกิดจากการบ่มเพาะและหล่อหลอมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอันยาวนาน มาตีความใหม่ภายใต้แนวทางของ “ภาพยนตร์แอคชั่นซูเปอร์ฮีโร่แบบไทยๆ” อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกของเมืองไทย โดยได้ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” และ “พันนา ฤทธิไกร” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” รับหน้าที่ “ควบคุมงานสร้างออกแบบ” และ “กำกับคิวบู๊แอคชั่น” (ตามลำดับ) และกำกับภาพยนตร์โดย “บัณฑิต ทองดี” ที่ทำให้ “มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม” (2545) และ “เฮี้ยน” (2546) เป็นภาพยนตร์ทำเงินที่กวาดรายได้อย่างสูงสุดของเมืองไทยมาแล้ว

 

ด้วยรูปแบบของภาพยนตร์ไลฟ์แอคชั่นที่เน้นความสมจริงซึ่งถูกนำมาผสมผสานกับงานเทคนิคพิเศษทางด้านภาพเพื่อถ่ายทอดพลานุภาพของเหล็กไหลทั้งในส่วนของความแข็งแกร่ง การยืดหดตัว รวมไปถึงการผสมผสานระหว่างเหล็กไหลและเลือดเนื้อในตัวร่างกายเป็นหนึ่งเดียวในตัวของ “มนุษย์เหล็กไหล” ให้สามารถโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มได้อย่างเหนือจริง

 

ตามความเชื่อที่ว่าเมื่อใดก็ตามที่ “เหล็กไหลจันทรา” (ความเย็น) และ “เหล็กไหลสุริยัน” (ความร้อน) รวมตัวกันคราใด ก็จะนำมาซึ่งขุมพลังแห่งอำนาจอเนกอนันต์อันยากเกินกว่าสรรพวุธอื่นใดจะสามารถสยบและหยุดยั้งได้ แต่แล้วแผนการครอบครองเหล็กไหลดังกล่าวของ “อุสมาห์” (อานนท์ สายแสงจันทร์) หัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้ายจากตะวันออกกลางหาได้เป็นอย่างที่คิดไม่ ถึงแม้ “อารีนา” (เมทินี กิ่งโพยม) สมุนมือขวาของตนจะสามารถแย่งชิงเหล็กไหลจันทรา (วัชรธาตุหรือ หยดน้ำฟ้าอันศักดิ์สิทธิ์) มาจาก “พูนิมา” (จิณวิภา แก้วกัญญา) กุมารีผู้ปกป้องประจำอารามแห่งหนึ่งในทิเบตมาได้แล้วก็ตาม แต่ในระหว่างการปล้นตัวอุสมาห์ผู้ก่อการร้ายข้ามชาติจากเรือนจำคุ้มครองพิเศษจากทางการไทยเกิดความผิดพลาดขึ้นจนนำไปสู่การระเบิดครั้งใหญ่ในเรือนจำ จนทำให้เหล็กไหลสุริยันทิ่มแทงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของ “ฌาน” (วสันต์ กันทะอู) นักดับเพลิงหนุ่มผู้มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ต้องตื่นตะลึงกับพลังลึกลับและฤทธานุภาพของเหล็กไหลที่อยู่ในตน

 

ทางเดียวที่จะไม่ให้พลังแห่งความร้อนแรงที่เกิดขึ้นจากเหล็กไหลแผดเผาเลือดเนื้อและร่างกายของฌาน คือจะต้องเรียนรู้การควบคุมสภาวะความรุ่มร้อนในอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากส่วนลึกในจิตใจของตนให้จงได้และเรียนรู้ที่จะควบคุมพลังจากเหล็กไหลที่ตอนนี้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเลือดเนื้อและร่างกาย และที่สำคัญจะต้องรับมือกับพลานุภาพของเหล็กไหลจันทราที่บัดนี้ถูกนำไปพัฒนาระดับขั้นของพลังเพิ่มทวีคูณขึ้นไปอีกจากกลุ่มก่อการร้ายของอุสมาห์

 

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการปะทะกันระหว่างพลานุภาพของเหล็กไหลทั้ง 2 ขั้วภารกิจอันยิ่งใหญ่ของชายหนุ่มอย่างฌาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ “มนุษย์เหล็กไหล”

 

Mercury-Man-Still01

 

บันทึกผู้กำกับ “บัณฑิต ทองดี” (Director’s Note)

 

หลังจากภาพยนตร์เรื่อง “เฮี้ยน” ฉายในปี 2546 ต่อจากนั้นอีกไม่กี่วัน ผมได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเสเพลไร้แก่นสาร และหลงระเริงกับแสงสีอยู่พักใหญ่ ช่วงนั้นผมเริ่มขี้เกียจไม่อยากทำงาน และไร้แรงบันดาลใจอย่างร้ายแรงในการคิดหาพล็อตใหม่ๆ ในการทำหนัง ทั้งๆ ที่มีคนมากมายจากหลายบริษัทผลิตภาพยนตร์ได้ติดต่อผมทำโปรเจกต์ต่างๆ แต่พล็อตเหล่านั้นล้วนแต่เป็นหนังผีซะส่วนใหญ่ ซึ่งคงเป็นเพราะแนวทางการทำหนังของผม หรือรูปร่างหน้าตาของผมก็ไม่ทราบ แต่พล็อตทั้งหมดนั้นมันไม่กระตุ้นอะดรีนาลีนในตัวผมสักนิด ผมไม่อยากติดภาพการเป็นผู้กำกับหนังผีหรือแนวหนึ่งแนวใดทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าผู้กำกับควรจะมีลายมือที่ชัดเจน แต่ผมผ่านการทำหนังมาเพียง 2 เรื่อง 2 แนว มันยังไม่ทำให้ผมเข้าใจความหมายของหนังแต่ละแนวอย่างถ่องแท้นัก ผมจึงปฏิเสธโปรเจคต์เหล่านั้นไปอย่างสุภาพ

 

จนวันหนึ่งผมได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา ผมติดตามข่าวอยู่หลายวัน และบังเอิญได้อ่านบทวิเคราะห์ของนักเขียนบางคนในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ทำให้ผมได้รู้ว่าปัญหาไฟใต้จะไม่มีวันดับถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือนักการเมืองยังไม่ดับไฟความละโมบและกิเลสในตัวเอง ผลประโยชน์มากมายจากธุรกิจผิดกฎหมายทำให้มีบางคนไม่ยอมให้ไฟใต้ดับมอดลง ผมอ่านแล้วจึงรู้สึกว่าอยากทำหนังที่พูดเกี่ยวกับจิตใจของคนที่พยายามดับไฟให้คนอื่นแต่ยังดับไฟในใจตัวเองยังไม่ได้ ผมจึงเก็บไอเดียนี้ไว้ในใจแล้วโทรศัพท์ไปหา “คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว” ว่าโปรเจกต์ต่อไปของผม ผมอยากทำหนังแอคชั่น พี่ปรัชญาถามผมว่าจะไหวเหรอ หนังแอคชั่นยากนะ เคยทำแต่หนังตลกกับหนังผีมา จะทำได้ดีเหรอ วินาทีนั้นผมรีบตอบอย่างมั่นใจว่าได้ครับ แล้วจึงฝากพี่ปรัชญาไปบอก “เสี่ยเจียง” (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) ด้วยว่าผมอยากทำหนังแอคชั่น

 

หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ผมก็ได้รับคำตอบว่าเสี่ยเจียงอนุมัติให้ทำหนังแอคชั่นได้ โดยมีโปรเจกต์หนึ่งซึ่งเสี่ยเจียงได้ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่ยังหาคนกำกับไม่ได้ นั่นคือเรื่อง “ไอ้เหล็กไหล” โดยมีโจทย์ว่าทำยังไงจะไม่ให้เหมือน “มหาอุตม์” และ “เสาร์ห้า” ซึ่งในเรื่องพระเอกจะหนังเหนียวทั้งคู่ หลังจากพยายามคิดหาทางออกอยู่นานและพอดีช่วงนั้นหนังฮอลลีวูดเรื่อง “สไปเดอร์แมน” กับ “เอ็กซ์เมน” ได้สร้างกระแสหนังซูเปอร์ฮีโร่ให้ตื่นตัวอีกครั้ง ไอ้เหล็กไหลจึงกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่พันธุ์ไทยแท้นามว่า “มนุษย์เหล็กไหล”

 

และเนื่องจากมนุษย์เหล็กไหลเป็นซูเปอร์ฮีโร่พันธุ์ไทยเรื่องแรก ความยากในการสร้างจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการออกแบบชุดมนุษย์เหล็กไหล การคิดเรื่องการออกแบบการต่อสู้ การหาตัวนักแสดง รวมถึงการหาสถานที่ถ่ายทำ โดยเฉพาะความยากของงานสร้างหนังแอคชั่นทำให้มนุษย์เหล็กไหลใช้เวลานานในการสร้าง แต่ทั้งหมดนี้ผมคงไม่กล้าพอที่จะบอกว่าการใช้เวลานานจะทำให้งานเข้าขั้นเนี้ยบ แต่ผมได้ทุ่มเทความสามารถทั้งหมดเท่าที่ผมมีใส่ลงไปในหนังอย่างเต็มที่ เท่าที่ทุนสร้างและภาวะแวดล้อมจะอำนวย

 

ผมคิดว่าเรื่องเหล็กไหลน่าจะมีโอกาสผ่านสายตาผู้ชมทั้งในรูปแบบหนัง VCD เรื่อง “ฤทธิ์เหล็กไหล” และละครช่องเจ็ดเรื่อง “เหล็กไหล” กันไปบ้างแล้ว และวันนี้ กว่าสองปีที่ทำงานกันมาก็ถึงคิวของภาพยนตร์เรื่อง “มนุษย์เหล็กไหล” ที่พร้อมจะออกสู่สายตาประชาชนแล้ว แม้จะนานไปสักนิดแต่ก็คิดว่าคงสมควรแก่การรอคอย เจอกัน 10 สิงหาคมนี้นะครับ

 

Mercury-Man-Power

 


นักแสดง

เมทินี กิ่งโพยม
อานนท์ สายแสงจันทร์ (ปู แบล็กเฮด)
วสันต์ กันทะอู
จิณวิภา แก้วกัญญา
ปริญญา เจริยผล

ผู้กำกับ

บัณฑิต ทองดี

โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ