คนโขน (Kon Khon)

วันเข้าฉาย: 25/08/2011 ดราม่า 01 ชั่วโมง 50 นาที

เรื่องย่อ

เบื้องหน้าคือความวิจิตรตระการตา เบื้องหลังคือตัณหาและมายาแห่งนาฎกรรม…

 

เรื่องของคน เรื่องของโขนนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508 โดยเล่าเรื่องราวของ “ชาด” (อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) เด็กกำพร้าที่ถูกครูโขนฝีมือดีอย่าง “ครูหยด” (สรพงษ์ ชาตรี) เลี้ยงดูและฝึกหัดโขนให้ตั้งแต่เล็กๆ จนกระทั่งเติบใหญ่มีฝีไม้ลายมือเก่งกาจกลายเป็นศิษย์เอกในคณะโขนของครูหยด อีกทั้งชาดยังได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจที่ดีเสมอมาจากเพื่อนรักอย่าง “ตือ” (กองทุน พงษ์พัฒนะ) และ “แรม” (นันทรัตน์ ชาวราษฎร์) ที่สนิทสนมรักใคร่ผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเด็ก

 

ด้านครูหยดก็ได้มองเห็นแววที่จะเอาดีทางด้านนี้ของชาด และคิดจะเปิดตัวชาดในบทพระรามเป็นครั้งแรกในงานแสดงโขนประจำปีครั้งใหญ่ที่วัดอ่างทอง

 

เส้นทางชีวิตของชาดดูเหมือนจะไร้ซึ่งอุปสรรคในการก้าวตามความฝัน เพื่อมุ่งสู่จุดสูงสุดของชีวิตนักแสดงโขนตามความทะยานอยากในวัยหนุ่มของเขา

 

แต่เมื่อ “ครูเสก” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) อดีตเพื่อนรักของครูหยด ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจด้วยปมแค้นฝังลึก ได้รับรู้เรื่องการแสดงของคณะครูหยด จึงหาวิธีกลั่นแกล้งไม่ให้ครูหยดได้แสดงโขนที่วัดนี้ ซึ่งก็เข้าทางหลานชายสายเลือดโขนของครูเสกอย่าง “คม” (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) คู่อริเก่าของชาดที่ต้องการแก้แค้นและเอาคืนชาดอย่างสาสมเช่นกัน

 

บางครั้งเราก็ต้องพบกับฝันร้ายโดยไม่รู้ตัว…

 

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อปัญหาที่ถาโถมเข้ามาหาครูหยดและชาดนั้นไม่ใช่แค่มายาแห่งนาฏกรรมโขนอันเกิดมาจากความอาฆาตแค้นไม่สิ้นสุดของครูเสกและคมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชาดยังหลงเข้าไปในวังวนแห่งตัณหาราคะที่ก่อเกิดจาก “รำไพ” (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) เมียรุ่นลูกของครูหยดที่จ้องจะเข้าหาชาดทุกครั้งที่มีโอกาส รวมทั้งมิตรภาพระหว่างเพื่อนรักอย่างชาด, แรม และตือที่ถูกสั่นคลอนลงอย่างไม่คาดฝัน นั่นเป็นเหตุให้ชีวิตของชาดซวนเซและพลิกผันไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

 

ฉากสุดท้ายของชาดจะสามารถกลับลำและไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ ถึงเวลาที่ชาดจะต้องต่อสู้เอาชนะด้านมืดของตัวเอง และพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า “ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ หาใช่หัวโขนที่สวมใส่”

 

Kon-Khon-Still19

Kon-Khon-Still20

 

เกร็ดภาพยนตร์ “คนโขน”

 

1) ห่างหายจากงานกำกับภาพยนตร์ไปนานถึง 5 ปี หลังจาก “อำมหิตพิศวาส” (The Passion) ผลงานนั่งแท่นกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 มาปีนี้ ผู้กำกับฝีมือละเมียดอีกคนของวงการ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ก็พร้อมกับมากับ “คนโขน” ผลงานเรื่องที่ 2 ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคน เรื่องเข้มข้นของโขน สะท้อนผ่านความรัก ชีวิต มิตรภาพของหลากหลายตัวละครที่มีสีสัน และพันผูกอยู่กับศิลปะนาฏกรรมการร่ายรำ “โขน” ที่เป็นดั่งชีวิตและจิตใจ

 

2) ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับฯ มีแรงบันดาลใจและความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะนำเสนอคุณค่าแห่งความเป็นไทยสะท้อนผ่านศิลปวัฒนธรรมกับการแสดง “โขน” ซึ่งอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาอย่างยาวนานแต่เหมือนกำลังเลือนหายไปจากสังคมไทย ให้ออกมาเป็นภาพยนตร์ในรูปแบบสากลที่ดูสนุกน่าติดตามไปทั้งเรื่องราวและชะตากรรมของตัวละคร และการเข้าถึงอรรถรสของโขนอย่างลึกซึ้ง

 

3) กว่าจะตกผลึกในเรื่องราวแห่งโขน ผู้กำกับและทีมงานต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลเฉพาะทางนี้อย่างลึกซึ้งนานถึง 2 ปีจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านโขน เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตอบโจทย์ที่แท้จริงในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมคนไทยหันกลับมาสนในศิลปวัฒนธรรมของบ้านเกิดตัวเองอย่างจริงจัง

 

4) ในช่วงเวลาเดียวกันกับการค้นหาข้อมูล ผู้กำกับที่ควบตำแหน่งเขียนบทด้วยนี้ ก็ลองผิดลองถูกร่างบทภาพยนตร์ในแนวต่างๆ หลากหลายร่าง ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นบทภาพยนตร์ร่างสมบูรณ์นี้ก็ใช้เวลากลั่นกรองถึง 1 ปีครึ่งในการเขียนและตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อให้ได้เรื่องของคน เรื่องของโขนที่สมบูรณ์และถึงพร้อมในทุกๆ ด้าน

 

5) เพื่อคงเสน่ห์ที่แท้จริงของศิลปะแขนงที่ 7 นี้ ภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” นี้ได้ใช้ “ฟิล์ม” ในการถ่ายทำทั้งเรื่อง ซึ่งหาได้ยากมากในโลกภาพยนตร์ยุคปัจจุบันนี้

 

6) ศิลปะนาฏกรรม “โขน” นี้ จะแบ่งออกเป็น “โขนในโรง (กรมศิลป์), โขนบ้านนอก (โขนริมคลอง), โขนนั่งราว (เล่นบนราวไม้ไผ่), โขนหน้าจอ (โขนประชันในงานวัด), โขนกลางแปลง” แสดงเฉพาะสุดยอดวรรณกรรมไทยเรื่อง “รามเกียรติ์” เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเราจะได้เห็นหลายตอนหลายฉาก หลากการแสดงโขนที่เรียงร้อยรายล้อมอยู่โดยรอบในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ฉากยกรบ, ฉากนางลอย, ฉากขับพิเภก, ฉากหนุมานชูกล่องดวงใจ, ฉากศึกพรหมาศ, ฉากนกสดายุ” ที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างสวยงามและสมจริง

 

7) ยกทีมนักแสดงชั้นครูมาปะทะฝีมืออย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น “สรพงษ์ ชาตรี, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล” และการพลิกบทบาทการแสดงอย่างถึงใจที่ไม่เคยเห็นในเรื่องใดมาก่อนของ “พิมลรัตน์ พิศลยบุตร”

 

8) คัดเลือกทีมนักแสดงหน้าใหม่มากฝีมือในการร่ายรำและแสดงโขนอย่างถูกต้องสวยงาม มารับบทนำให้ดูน่าเชื่อถือในบทบาทของตัวละครที่ผูกพันกับโขนมาตั้งแต่เกิด ซึ่งนักแสดงใหม่ทุกคนใช้เวลามุมานะในการซ้อมอย่างเต็มที่เพื่อให้งานแสดงของตนออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็น…

  • “อาร์-อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ” (นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชา นาฏยศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านงานแสดงโขนมาหลากหลายงาน) – รับบท “ชาด” พระเอกของเรื่องที่ต้องการให้ผู้คนยอมรับในความสามารถและใฝ่ฝันที่จะขึ้นสู่จุดสุดยอดของโขน
  • “นัท-ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์” (หลานชายพระเอกชื่อดังของกรมศิลป์ “ปกรณ์ พรพิสุทธิ์” ที่เชื้อโขนไม่ทิ้งลาย ชำนาญในนาฎศิลป์โขน, ศิลปะการป้องกันตัว เช่น กระบี่กระบอง พลองไม้สัน มวยคาดเชือก และการเต้นแบบศิลปะร่วมสมัย ผ่านงานแสดงโขนในรูปแบบต่างๆ มาอย่างเชี่ยวชาญ) – รับบทเป็น “คม” ตัวร้ายคู่อริของพระเอก มีความสามารถด้านโขนอย่างหาตัวจับยาก แต่มีนิสัยและภาพลักษณ์ขัดกับความดีงามของโขนอย่างสิ้นเชิง
  • “กอง-กองทุน พงษ์พัฒนะ” (จบปริญญาตรี คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาดนตรีแจ๊ส มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความสามารถทางด้านดนตรีแจ๊สเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเคยแต่งเพลงและเล่นดนตรีประกอบละครเวทีคณะละครมรดกใหม่) – รับบทเป็น “ตือ” หนุ่มหน้ามนที่มีความสามารถในการวาดภาพ เป็นคู่ซี้ของชาด และแอบหลงรักเพื่อนหญิงที่ชื่อแรมอย่างหมดหัวใจ
  • “ตรี-นันทรัตน์ ชาวราษฎร์” (นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกนาฏยศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลานสาวของดาวค้างฟ้า “เพชรา เชาวราษฎร์” ได้รับรางวัลจากการประกวดด้านดนตรีและนาฏศิลป์มามากมาย และผ่านงานแสดงภาพยนตร์มาบ้างประปราย) – รับบทเป็น “แรม” สาวน้อยที่อาศัยอยู่ในคณะลิเก เป็นเพื่อนสนิทของชาดและตือ เธอมีความใฝ่ฝันจะเป็นนางเอกลิเก

 

9) ยืนยันความถูกต้องสมจริงในทุกๆ รายละเอียดของบทภาพยนตร์ และควบคุมดูแลฉากการแสดงโขนโดย “ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม” ศิลปินด้านโขนละครและดนตรีไทย รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยจากกรมศิลปากร (ศิษย์เอกของ “อาจารย์เสรี หวังในธรรม” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เมื่อปี พ.ศ. 2531)

 

10) ด้วยการวางโครงเรื่องหลักให้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508 ทำให้งานออกแบบงานสร้าง, ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และสถานที่ถ่ายทำถูกเคี่ยวกรำจากผู้กำกับสุดเนี้ยบเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้งานออกมาอย่างถูกต้องสวยงามและตรงตามยุคสมัย โดยได้ถ่ายทอดผ่านหลากหลายโลเกชั่นไม่ว่าจะเป็น…

  • บ้านครูหยด โขนบ้านนอก (โขนริมคลอง) ซึ่งทีมงานลงทุนไปสร้างฉากนี้ขึ้นที่อัมพวา จ. สมุทรสงคราม ซึ่งถือเป็นฉากหลักที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ณ บ้านแห่งนี้
  • อ่างศิลา จ. ชลบุรี ถูกเซ็ตเป็นฉากตลาดใหญ่
  • บ้านสวนพลู ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (ผู้ให้กำเนิดโขนธรรมศาสตร์ และเคยแสดงเป็นตัวทศกัณฐ์ด้วย) ถูกเซ็ตเป็นฉากการแสดงโขนทิ้งทวนของครูเสก
  • ทะเลแถบปราณบุรี หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ เซ็ตเป็นฉากแสดงโขนบอกรักของคู่พระนาง ซึ่งได้บรรยากาศและทิวทัศน์ที่สวยงามมากฉากหนึ่งของเรื่อง
  • วัดแถวนครไชยศรี จ. นครปฐม ถูกเซ็ตเป็นฉากโขนประชันท้ายเรื่องสุดยิ่งใหญ่
  • โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ เซ็ตเป็นฉากไฮไลต์ยิ่งใหญ่ งานเปิดโรงละครแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2508 ที่เซ็ตฉากทั้งการซ้อมและการแสดงโขนใน “ฉากยกรบ” ของกองทัพยักษ์และลิงที่สมบูรณ์สวยงามและสุดตระการตา

 

Kon-Khon-Still18

 

บันทึกผู้กำกับ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง”

 

กว่าจะเป็น “หนัง” สักเรื่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าความตั้งใจและพยายาม

กว่าจะเป็น “โขน” สักเรื่อง ไม่ใช่เรื่องยาก

แต่ก็ไม่ง่าย หากไม่มีใจและความมานะพากเพียร

กว่าจะเป็นหนังเรื่อง “คนโขน” ได้

ต้องใช้หัวใจที่รักศิลปะ

ต้องใช้กำลังกายที่เกิดจากศรัทธา

ต้องใช้การสนับสนุนจากผู้ที่เห็นถึงคุณค่า

ต้องระลึกเสมอว่า “นาฎกรรมไทย ย่อมบ่งบอก ความเป็นชาติไทย”

                                                                                             


นักแสดง

สรพงษ์ ชาตรี
นิรุตติ์ ศิริจรรยา
เพ็ญพักตร์ ศิริกุล
พิมลรัตน์ พิศลยบุตร
อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ
ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์
กองทุน พงษ์พัฒนะ
นันทรัตน์ ชาวราษฎร์

ผู้กำกับ

ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

รางวัล

รางวัล “สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 21” (ประจำปี 2554) – ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (เจษฎา สุขทรามร, ชัยยุทธ โตสง่า, ราชศักดิ์ เรืองใจ) / ตัวแทนภาพยนตร์ไทยชิงรางวัล “Oscars ครั้งที่ 84” (ประจำปี 2011) สาขา “ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม”


โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ