จันดารา ปฐมบท (Jan Dara: The Beginning)

วันเข้าฉาย: 06/09/2012 ดราม่า, อีโรติก 02 ชั่วโมง 16 นาที

เรื่องย่อ

จากวรรณกรรมเชิงสังวาสสุดล้ำของนักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม”

สู่มหากาพย์ภาพยนตร์สุดละเมียดของผู้กำกับมากฝีมือ “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล”

“จันดารา ปฐมบท”

โศกนาฏกรรมแห่งการจองเวร หายนะแห่งกรรมตัณหา สะท้อนใจวิปริตของมนุษย์

ผ่านการพลิกบทบาทสุดเข้มข้นของ

“มาริโอ้ เมาเร่อ, ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, บงกช คงมาลัย, สาวิกา ไชยเดช, รฐา โพธิ์งาม,

โช นิชิโนะ, ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยารัดเกล้า อามระดิษ, เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์” ฯลฯ

6 กันยายน 2555 ในโรงภาพยนตร์

 

เรื่องราวโศกนาฏกรรมชีวิตของ “จัน ดารา” (มาริโอ้ เมาเร่อ) เริ่มต้นนับตั้งแต่เขาถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ณ บ้านพิจิตรวานิชในปี พ.ศ. 2458 เขาเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับความตายของมารดาโดยไม่คาดฝัน นั่นทำให้ “คุณหลวงวิสนันท์เดชา” (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ผู้เป็นบิดาได้ลงโทษทัณฑ์เขาอย่างทารุณราวกับว่าเขาไม่ใช่ลูก พร้อมเรียกขานเขาว่า “ไอ้จัญไร”

 

ที่เรือนเล็กในสวนหลังบ้าน จันเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูของ “น้าวาด” (บงกช คงมาลัย) ญาติสนิทของมารดาจากเมืองพิจิตร และมี “เคน กระทิงทอง” (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) ลูกชายแม่ครัวในบ้านเป็นสหายสนิทเพียงคนเดียวที่จันสามารถเล่าทุกอย่างให้ฟังได้

 

ต่อมาน้าวาดได้ตกเป็นภรรยาของคุณหลวง และให้กำเนิดลูกสาวสาวชื่อ “คุณแก้ว” หรือ “วิไลเลข” (โช นิชิโนะ) อันเป็นที่รักยิ่งของคุณหลวงซึ่งสอนให้หล่อนเกลียดชังจันตั้งแต่จำความได้

 

ตัวคุณหลวงเองนั้นก็มักมากในกาม บริวารหญิงแทบทั้งสิ้นในบ้านล้วนตกเป็นเมียลับของเขา ซึ่งเมื่อเขามีอารมณ์ที่จะสังวาสกับหญิงคนใดก็กระทำการอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดหรือมุมใดในบ้านหลังนั้นอย่างเสรี จนทำให้เด็กทุกคนในบ้านไม่ว่าจะเป็นจัน ดารา, เคน กระทิงทอง หรือคุณแก้วล้วนเติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแห่งกามตัณหาอย่างที่ไม่สมควรจะเกิดให้เป็นแบบอย่างแก่เด็กคนใดก็ตาม

 

เมื่อจันเติบโตเป็นหนุ่ม เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์แห่ง “กามคุณ” กับบ่าวหญิงในบ้าน โดยการชักนำของเคน กระทิงทอง ก่อนที่จันจะได้พบรักอันบริสุทธิ์เป็นครั้งแรกกับ “ไฮซินธ์” (สาวิกา ไชยเดช) เพื่อนหญิงร่วมโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษภาคค่ำ จนกระทั่งเมื่อคุณหลวงได้พา “คุณบุญเลื่อง” (รฐา โพธิ์งาม) คนรักเก่าเข้ามาอยู่บ้าน ทำให้จันเกิดความประทับใจในความสง่างามและความอบอุ่นประดุจมารดา ส่วนตัวคุณบุญเลื่องเองก็ประทับใจในความละเอียดอ่อนลึกซึ้งดุจศิลปินของจัน จนมีความสัมพันธ์ลับอันเกินเลย

 

และแล้ววันหนึ่ง ชะตากรรมได้พลิกผันทำให้จันล่วงรู้ความจริงบางอย่างอันน่าอดสูเกี่ยวกับตระกูลของเขา นั่นทำให้จันตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต เพราะคุณหลวงนั้นเป็นมนุษย์ฉ้อฉลผู้ใช้ทุกกลวิธีในการคดโกงเพื่อครอบครองทรัพย์สินอันมหาศาลแห่งตระกูลพิจิตรวานิช ทำให้จันต้องเดินทางหนีภัยจากพระนครไปพำนักอยู่กับ “คุณท้าวพิจิตรรักษา” (รัดเกล้า อามระดิษ) ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เมืองพิจิตร เพื่อรอเวลาชำระแค้นและเอาทุกสิ่งทุกอย่างคืนกลับมาเป็นของเขาให้จงได้

 

โศกนาฏกรรมชีวิตของ “จัน ดารา” แวดล้อมไปด้วยผู้คนรอบข้างที่สะท้อนมวลอารมณ์แห่งความรัก ความชัง ความใคร่ ความเคียดแค้น และการจดจำเอาเยี่ยงอย่างมาสู่การดำเนินชีวิตของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อีกทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์อันน่าสมเพชจนนำไปสู่หายนะอย่างแท้จริง

 

Jan-Dara-Beginning-Poster02-1

 

จากวรรณกรรมอมตะสู่ภาพยนตร์คุณภาพแห่งปี

 

“นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวเรื่องแรกของผู้เขียน ซึ่งต้องขอบอกกล่าวไว้เสียด้วยว่า เป็นเรื่องอ่านเล่น ซึ่งไม่ใช่ของสำหรับเด็ก และเป็นของแสลงอย่างยิ่งสำหรับบุคคลประเภท ‘มือถือสาก ปากถือศีล’

 

“เรื่องของจัน ดารา” จัดเป็นงานที่พรรณนาภาพอันน่าสังเวชของมนุษย์ที่ตกอยู่ใน “เขาวงกตแห่งกามตัณหา” นักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” เขียนเรื่องนี้อย่างผู้ที่มากด้วย “ประสบการณ์” และ “ประสบกาม” จัดได้ว่าเป็นแบบ “อัตถนิยมแท้ๆ” (Realism) เล่มหนึ่งของวงวรรณกรรมไทย

 

ความน่าสนใจของวรรณกรรมเรื่องนี้ มิใช่การรจนาอันละเมียดละไมอย่าง “วิจิตรบรรจง” ใน “บทอัศจรรย์เชิงสังวาส” แต่เพียงอย่างเดียว หากอยู่ที่การสร้างสรรค์ลักษณะนิสัยของ “ตัวละคร” ทุกตัวอย่างมีจิตวิญญาณและเลือดเนื้อ เป็นมนุษย์ปุถุชนในโลกของความเป็นจริง ทุกตัวละครล้วนมี “มิติ” ของความเป็น “คน” ที่พบเห็นได้สัมผัสได้ในทุกยุคทุกสมัย มีทั้งด้านดีและเลวคละเคล้ากันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลทาง “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันป็น “เบ้าหลอม” ทำให้มนุษย์ก่อพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นไปใน “ด้านบวก” หรือ “ด้านลบ”

 

ตัวละครอย่าง “จัน ดารา” จึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่ตกเป็นทาสของชะตากรรมที่น่าสังเวช อันมีเหตุมาจาก “กรรมพันธุ์” และ “สภาพแวดล้อม” อันโหดร้ายทารุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

“ที่เราเลือกทำ ‘จัน ดารา’ ในตอนนี้ก็เพราะรู้สึกว่า โดยเนื้อหาสาระจากหนังสือที่ ‘อุษณา เพลิงธรรม’ (ประมูล อุณหธูป) เขียน ถึงแม้ว่าจะเขียนมานานเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระก็ยังทันสมัยมาก ยังสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และเหมือนเป็นกระจกที่จะสะท้อนให้เห็นกิเลสในใจของคน มันไม่ใช่แค่ตัณหาราคะอย่างเดียว แต่คนที่ยึดมั่นกับความเคียดแค้นมันจะก่อให้เกิดปัญหาและหายนะยังไงกับตัวเองและคนรอบข้างจนนำไปสู่ปัญหาสังคมในระดับรวมด้วย”

 

“จัน ดารา” เวอร์ชันดัดแปลงโดยผู้กำกับมือเอก “หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” นี้ สะท้อนภาพความวิปริตของมนุษย์แต่ละคน เพื่อชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของ “สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ความหิวโหยความรัก ความทารุณเหี้ยมเกรียม ตัวอย่างโสมม” ที่ประทับหูประทับตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเป็นเบ้าหลอมที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

 

คนที่จะปีนขึ้นจากเบ้าหลอมเช่นนั้นได้ จะต้องอาศัย “ความแกร่ง” ชนิดพิเศษ และ “กรรมดี” ช่วยสนับสนุนประกอบกัน

 

แต่เผอิญ “จัน ดารา” ไม่ได้เป็นคนเช่นนั้น เขาจึงตกเป็นเหยื่อของสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างน่าสมเพช

 

Jan-Dara-Beginning-Poster03-1

 

“จัน ดารา” ในเชิงจิตวิเคราะห์

 

“ซิกมันด์ ฟรอยด์” (Sigmnd Freud) ปรมาจารย์แห่งจิตวิทยาชาวเยอรมันได้กล่าวว่า ในทุกๆ “การกระทำ” ของมนุษย์ล้วนแล้วแต่มี “แรงผลักดันทางเพศ” (Sex Drive) แฝงไว้ใน “จิตใต้สำนึก” เสมอ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมี “ปมทางจิต” ที่เรียกว่า “ปมอิดิพุส” (Oedipus Complex) ซ่อนอยู่ภายใต้จิตใจอันบอบบาง ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปของบิดามักจะรักลูกสาว มารดามักจะรักลูกชาย และในทางกลับกัน ลูกสาวมักจะรักบิดา และลูกชายมักจะรักมารดา เป็นต้น อันเป็นรากฐานของ “ความรัก” ในระดับต่อๆ มาในวัยของมนุษย์ เช่น ชายหนุ่มมักจะนิยมชมชอบผู้หญิงที่มีความเหมือนมารดา และหญิงสาวมักจะนิยมชมชอบชายที่มีนิสัยคล้ายกับบิดา ซึ่งพื้นฐานของแนวคิดทางจิตวิเคราะห์เหล่านี้ล้วนปรากฏเด่นชัดใน “ตัวละคร” ซึ่งขาดความอบอุ่นทั้งจากบิดาและมารดา เขาจึงแสวงหา “ความรัก” และ “ความอบอุ่น” ดังกล่าวจนชั่วชีวิต แต่ก็ล้มเหลวที่จะได้พบเจอ

 

ส่วน “แรงผลักดันทางเพศ” (Sex Drive) นั้นก็มิได้หมายถึงพฤติกรรมในเชิงสังวาสเพียงอย่างเดียว หากครอบคลุมและผสมผสานไปกับ “ความรักอันบริสุทธิ์” (Pure Love) อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ และเป็น “แรงผลักดัน” ที่มีพลังอันมหาศาลเป็นตัวที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นไปในด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม

 

อาทิเช่น เมื่อมนุษย์มีความรักอันแรงกล้าก็จะทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งคนที่เรารักยิ่ง ไม่ว่าจะออกมารูปของการขยันทำมาหากินเพื่อให้คนที่เรารักได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย หรือลักขโมยและฉ้อโกงทรัพย์เพื่อให้คนที่รักมีความสุขได้อีกเช่นกัน และยิ่งเพื่อความมั่นคงของครอบครัวและวงศ์ตระกูลแล้ว พลังอันมหาศาลแห่ง “แรงผลักดันทางเพศ” (Sex Drive) จะก่อให้เกิดผลกรรมอันยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็น “กุศลกรรม” หรือ “อกุศลกรรม” อันบันดาลได้ทั้ง “ความเจริญรุ่งเรือง” และ “ความหายนะ” อันใหญ่หลวงในครอบครัวซึ่งแผ่ไปถึงสังคมรอบข้าง

 

ภาพยนตร์มหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่เรื่อง “จัน ดารา” นี้จึงเป็นภาพสะท้อนของผลกรรมของมนุษย์ผู้ไร้เดียงสาที่ถูกสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแสวงหา “อำนาจ” ทั้งใน “สมบัติ” และ “กามคุณ” หล่อหลอมจนจิตใจเต็มไปด้วย “กิเลส” และ “ตัณหาราคะ” อันก่อให้เกิด “เปลวไฟแห่งความแค้น” ที่เผาผลาญชีวิตรอบข้างและตนเองให้มอดไหม้จนกลายเป็นธุลี

 

Jan-Dara-Beginning-Poster04-1

 

เกร็ดภาพยนตร์:

 

1) ภาพยนตร์เรื่อง “จันดารา ปฐมบท” (2555) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (2556) ดัดแปลงจากนวนิยายสุดคลาสสิก “เรื่องของจัน ดารา” ของนักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” (ประมูล อุณหธูป) (2463-2530) ตีพิมพ์ เป็นตอนๆ ครั้งแรกใน “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” (2507-2509) 

 

2) ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดย “สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น” (2509) และหลังจากนั้นตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาก็ถูกพิมพ์รวมเล่มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 13 โดย “สำนักพิมพ์มติชน” (เม.ย. 2555) 

 

3) สู่การเขียนบทและตีความใหม่สุดเข้มข้นโดยผู้กำกับฯ ฝีมือละเมียด “หม่อมน้อย – ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” เป็นผลงานลำดับที่ 11 ถัดจากภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง “เพลิงพิศวาส” (2527), “ช่างมันฉันไม่แคร์” (2529), “ฉันผู้ชายนะยะ” (2530), “นางนวล” (2530), “เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย” (2532), “ความรักไม่มีชื่อ” (2533), “มหัศจรรย์แห่งรัก” (2538), “อันดากับฟ้าใส” (2540), “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2553), “อุโมงค์ผาเมือง” (2554) 

 

4) “จันดารา” เวอร์ชันหม่อมน้อยใน พ.ศ. นี้ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ 3 ถัดจาก 2 ครั้งแรก คือ

  • ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2520) สร้างโดย เทพกรภาพยนตร์ / อำนวยการสร้างโดย กิติมา เศรษฐภักดี / กำกับโดย รัตน์ เศรษฐภักดี / เขียนบทโดย ส. อาสนจินดา / กำกับภาพโดย อดุลย์ เศรษฐภักดี / นำแสดงโดย สมบูรณ์ สุขีนัย (จัน), อรัญญา นามวงศ์ (บุญเลื่อง), ศิริขวัญ นันทศิริ (แก้ว), ภิญโญ ปานนุ้ย (เคน) เข้าฉายเมื่อ 11 มี.ค. 2520 ที่โรงเพชรรามา และโรงเพชรเอ็มไพร์
  • ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2544) สร้างโดย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ / กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร / เขียนบทโดย ศิรภัค เผ่าบุญเกิด, นนทรีย์ นิมิบุตร / นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ (คุณหลวง), สุวินิต ปัญจมะวัต-เอกรัตน์ สารสุข (จัน), วิภาวี เจริญปุระ (น้าวาด), คริสตี้ ชุง (บุญเลื่อง), ภัทรวรินทร์ ทิมกุล (แก้ว), เคน (ครรชิต ถ้ำทอง) เข้าฉายเมื่อ 28 ก.ย. 2544

 

5) “จันดารา” เวอร์ชันหม่อมน้อยจะถูกสร้างเป็นสองภาค คือ “จันดารา ปฐมบท” (6 ก.ย. 54) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (7 ก.พ. 56) เพื่อความสมบูรณ์แบบของเนื้อหาและสาระบันเทิงอย่างเต็มอิ่ม

 

6) พลิกบทบาทประชันฝีมือด้วยทีมนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น “มาริโอ้ เมาเร่อ (จัน ดารา), ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต (เคน กระทิงทอง), ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (หลวงวิสนันท์เดชา), บงกช คงมาลัย (น้าวาด), รฐา โพธิ์งาม (คุณบุญเลื่อง), โช นิชิโนะ (คุณแก้ว), สาวิกา ไชยเดช (ดารา / ไฮซินธ์), รัดเกล้า อามระดิษ (คุณท้าวพิจิตรรักษา), ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ขจร), เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ (ร้อยตำรวจเอกเรืองยศ)” ร่วมด้วยนักแสดงสมทบและรับเชิญอีกมากมายที่จะมาเพิ่มสีสันให้กับภาพยนตร์โดยเฉพาะ

 

7) “จันดารา” ทั้งสองภาคนี้เซตฉากถ่ายทำอย่างงดงามในทุกๆ โลเคชั่นไม่ว่าจะเป็น “บ้านสังคหวังตาล บ้านโป่ง จ.ราชบุรี / หอวัฒนธรรมไทยวน (ไท-ยวน) อำเภอเสาไห้ สระบุรี / โฮมพุเตย, น้ำตกเจ็ดสาวน้อย จ.กาญจนบุรี / ลานพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5, ถนนราชดำเนิน หน้าวังปารุสกวัน, สถานีดับเพลิงบางรัก, ตึกพัสดุการรถไฟ, หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร” 

 

8) รวมพลคนเบื้องหลังมืออาชีพทุกๆ ด้านที่จะมาสร้างสรรค์ให้ “จันดารา” เวอร์ชั่นนี้ตระการตาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบงานสร้างสุดวิจิตรในทุกฉากโดย “พัฒน์ฑริก มีสายญาติ” (อุโมงค์ผาเมือง), การกำกับภาพสุดงดงามในทุกเฟรมภาพของ “พนม พรมชาติ” (ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ), งานออกแบบเครื่องแต่งกายสุดประณีตของ “อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์” (ซีอุย, ต้มยำกุ้ง, Me, Myself ขอให้รักจงเจริญ), การเมกอัปสุดบรรจงในทุกคาแร็กเตอร์โดย “มนตรี วัดละเอียด” (สุริโยไท, โหมโรง, ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ) และดนตรีประกอบสุดตรึงใจโดย “ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์” (นางนาก, จัน ดารา-2544, โอเคเบตง, โหมโรง, เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก, ก้านกล้วย, ปืนใหญ่จอมสลัด, อุโมงค์ผาเมือง, คน-โลก-จิต ฯลฯ)

 

9) “เพลงเมื่อไหร่จะให้พบ” ประพันธ์คำร้องโดย “แก้ว อัจริยะกุล” / ทำนองโดย “หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์” / ต้นฉบับขับร้องโดย “มัณฑนา โมรากุล” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2555 นี้ จะขับร้องโดย “รฐา โพธิ์งาม” และ “ศักราช ฤกษ์ธำรงค์” สองนักแสดงใน “จันดารา ปฐมบท” อย่างแสนไพเราะ

 

Maebia-Still02

 

คลังภาพยนตร์หม่อมน้อย (2527-2554)

  • “เพลิงพิศวาส” (2527) ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย)
  • “ช่างมันฉันไม่แคร์” (Dame it! Who care – 2529– ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม / ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม / ได้รับการคัดเลือกไปฉายโชว์ในงาน London Films Festival และ Berlin Films Festival
  • “ฉันผู้ชายนะยะ” (Boy in the Band – 2530) – ได้ฉายใน Gay Film Festival ที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ปี 2532
  • “นางนวล” (The Seagull – 2530) – ได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียในปี 2531 ใน Asian Films Festival ที่ Taiwan และยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย
  • “เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย” (2532)
  • “ความรักไม่มีชื่อ” (2533)
  • “มหัศจรรย์แห่งรัก” (2538) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดาราประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม (วิลลี่ แมคอินทอช), ดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (วราพรรณ หงุ่ยตระกูล), กำกับฝ่ายศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  • อันดากับฟ้าใส (2540) – ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (สินจัย หงษ์ไทย), ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  • “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2553) – ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม(อนันดา เอเวอริงแฮม), ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 20 / ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ, บทภาพยนตร์, นักแสดงนำชาย, นักแสดงนำหญิง รางวัลคมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่ 8 / ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม, ผู้แสดงนำหญิง, ยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 19
  • “อุโมงค์ผาเมือง” (2554) – เทคนิคการสร้างภาพพิเศษ, ออกแบบเครื่องแต่งกาย รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 21 / ผู้แสดงสมทบหญิง (รัดเกล้า อามระดิษ), กำกับศิลป์ รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 20

 


นักแสดง

มาริโอ้ เมาเร่อ
ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต
ศักราช ฤกษ์ธำรงค์
บงกช คงมาลัย
สาวิกา ไชยเดช
รฐา โพธิ์งาม
โช นิชิโนะ
ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
รัดเกล้า อามระดิษ

ผู้กำกับ

ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

รางวัล

รางวัล “พระสุรัสวดี-ตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 29” (ประจำปี 2555) – ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์), แต่งหน้าและทำผมยอดเยี่ยม (มนตรี วัดละเอียด, ทิฆัมพร แซ่ลิ้ม), ตุ๊กตาเงินดาวรุ่งชายดีเด่น (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต)


โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ


ภาพยนตร์ที่คุณอาจสนใจ