นรก (Hell)

วันเข้าฉาย: 23/06/2005 ผจญภัย, ระทึกขวัญ, แฟนตาซี 01 ชั่วโมง 30 นาที

เรื่องย่อ

ทีมงานสารคดีโทรทัศน์ที่มุ่งตีแผ่ความเลวและลงโทษเหล่าคนชั่วในสังคม พวกเขากำลังได้รับความนิยมมากในวงการ ทีมงานประกอบไปด้วย “อาร์ต” (วุฒินันท์ ไหมกัน) ช่างภาพหนุ่มอารมณ์ร้อน, “จ๋า” (ณัฐวรรณ วรวิทย์) ครีเอทีฟสาวอนาคตไกล, “น้าเต๋า” (ค่อม ชวนชื่น) หนุ่มรุ่นใหญ่ฝ่ายข้อมูลตัวกลั่นและเชี่ยวในการหาโลเคชันของรายการ, “ชด” (ปัญญาพล เดชสงฆ์) ผู้กำกับรายการสารคดีหนุ่มที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน, “คิม” (ดลยา โพธิพิภัทรกุล) เด็กสาวลูกครึ่งอังกฤษที่ชีวิตแทบจะไม่เคยทำบาป รับหน้าที่เป็นนกต่อในการถ่ายทำสารคดีแต่ละครั้ง, “อ้น” (สิทธิชัย เหลืองเสรี) เด็กฝึกงานที่อายุน้อยที่สุดในทีมแต่ฝันที่จะเป็นผู้กำกับ และ “เละ” (บวรฤทธิ์ ฉันทศักดา) โชเฟอร์หนุ่มจิตอ่อนนิสัยขี้กลัวที่ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองชะตาขาด

 

ทั้งหมดเดินทางมุ่งหน้าไปถ่ายทำรายการตามปกติเหมือนเคย กลับต้องมีเหตุให้ตัวเองและพรรคพวกต้องเผชิญหน้าและรับกรรมไปกับโทษมหันต์จากการตก “นรก” เมื่อรถตู้ของกองถ่ายเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำเสียหลักจนทุกคนหมดสติไป

 

หลังจากที่พวกเขาฟื้นขึ้นมาก็ต้องพบและฝ่าฟันกับความน่าสะพรึงกลัวของนรก ทั้งที่จริงแล้วมีเพียงเละซึ่งเป็นคนขับที่ชะตาถึงฆาต ส่วนคนอื่นๆ ติดสอยห้อยตามมา เพราะอุบัติเหตุที่ทั้งหมดร่วมเดินทางมาด้วยกันเท่านั้น ทุกคนมีกรรมหนักกรรมเบากันคนละแบบจึงถูกส่งไปอยู่ในขุมที่ต่างกัน 5 ขุม ประกอบไปด้วย…

  • “นรกขุมฆ่าสัตว์” (ได้รับผลกรรมชดใช้ตามที่เคยทำไว้กับสัตว์อื่น)
  • “นรกพูดปด คิดไม่ดี ทำร้ายบุพพการี” (ถูกทรมานโดยการทุบฝ่ามือ)
  • “นรกลักทรัพย์” (ถูกตัดแขนตัดขา)
  • “นรกสุรา” (เอาน้ำกระทะทองแดงกรอกปาก)
  • “นรกกาเม” (ปีนป่ายต้นงิ้วและอีกาปากเหล็ก)

 

พวกเขาต่างระลึกกรรมในอดีตที่เคยทำกันมา โดยในแต่ละขุมจะมียมทูตคนละชุดกันคอยควบคุมดูแล และพวกเขาจะมองเห็นแต่เฉพาะคนที่มีบาปอยู่ในขุมของตนเท่านั้น

 

เมื่ออาร์ตได้รู้ว่าตนและเพื่อนยังไม่ถึงฆาต พวกเขาจึงยังไม่ใช่คนตายที่ยมทูตจะมองเห็น ดังนั้นพวกเขาจึงพากันหลบหนีไป การติดตามไล่ล่าจากนรกได้เปิดฉากขึ้น พวกเขาจะตัดสินใจอย่างไรระหว่างความเป็นกับความตาย ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในการช่วยเพื่อนหรือเอาตัวรอด

 

เมื่อยังมีคนในกลุ่มที่ยังไม่ถึงฆาต พวกเขาจะฝืนชะตากรรมที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้นได้อย่างไร…

 

Hell-Poster021

 

เกร็ดหนัง “นรก”

 

  • ที่มาของภาพยนตร์เรื่อง “นรก” นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคำถามที่ว่า “ตายแล้วไปไหน ใครเคยเห็นนรกบ้าง” เป็นจุดเริ่มต้นของการหาคำตอบตามแหล่งข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมมะ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง คำบอกเล่าต่างๆ ของผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ พัฒนาจนมาเป็น “นรก” ฉบับปัจจุบัน
  • การเดินทางในโลกภาพยนตร์ของ 2 ผู้กำกับ “เจี๋ยน-ฑีฆายุ ธรรมนิตยกุล” และ “บลูตัส-สาธิต ประดิษฐ์สาร” เริ่มจากการเป็นผู้กำกับศิลป์คู่กันครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง “รักเอย” (2539), กำกับศิลป์และออกแบบงานสร้างเบื้องหลังภาพยนตร์ไทยหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็น “สวัสดีบ้านนอก” (2542), “โกซิกส์ โกหก ปลิ้นปล้อน กะล่อน ตอแหล” (2543), “14 ตุลา สงครามประชาชน” (2544), “ผีสามบาท” (2544), “ขุนแผน” (2545) และประสบความสำเร็จกับรางวัลเกียรติยศกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง “เสือโจรพันธุ์เสือ” (2541) ภายใต้การกำกับของ “ปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล”  และเป็นผู้ผลักดันสนับสนุนให้เจี๋ยนและบลูตัสก้าวเข้าสู่การกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกอย่างเต็มตัวกับเรื่องนี้
  • จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในการกำกับศิลป์และออกแบบงานสร้างภาพยนตร์มามากมาย ทำให้การใช้เทคนิคภาพ แสง สี เสียงในภาพยนตร์ที่เน้นองค์ประกอบของอาร์ตไดเรกชันอย่างเรื่องนี้น่าจะเข้าทางผู้กำกับทั้งสองคนเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นการผสมผสานจินตนาการอันหลากหลายผ่านงานด้านภาพและโปรดักชันที่เน้นความน่าสะพรึงกลัวของยมโลก
  • “ทางเข้าทางออกของนรก ไม่ได้เป็นประตู หรือมีทางเข้าออกทางเดียว” มีทางเข้าออกหลายทางทางเข้าทางออกจะเป็นคล้ายๆ งวงพายุหลายๆ อันอยู่กระจายกันไป มีทั้งปล่องขาว ปล่องแดง ถ้ามองภาพกว้างในเรื่องนี้จะเห็นว่ามีงวงพายุกระจายอยู่เต็มไปหมด ทางเข้านรกจะเป็นเกลียวพายุสีแดงดูร้อนแรง ส่วนทางออกจะเป็นสีขาวพุ่งขึ้นไป เป็นสัญลักษณ์ง่ายๆ ใครดูก็จะเข้าใจได้ว่า ถ้าไปสวรรค์จะเป็นเกลียวหมุนขึ้นสีขาว แต่ถ้าลงนรกจะหมุนลงเป็นสีแดง วิญญาณจะหลุดเข้ามาที่นี่ก่อนแล้วค่อยไปที่ห้องตัดสิน
  • “ภาพนรกที่เห็นเป็นเหมือนกำลังก่อสร้างอยู่ มีที่มาที่ไป” เป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ดีไซน์นรกเหมือนซ่อมๆ คล้ายฉากที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะต้องการให้นรกดูเหมือนใช้งานหนัก ซึ่งตัวนรกเองก็ต้องซ่อมตัวเองเหมือนกัน เพราะมีคนเข้าออกเยอะ ใช้งานนรกเยอะ เหมือนวัฒนธรรมที่ล่มสลายก็ต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซม ให้เห็นถึงสัจธรรมแม้แต่นรกเองถึงจะเป็นสถานที่น่าเกรงกลัวสำหรับคนทั่วไปเป็นที่ลงโทษคนทำผิดก็ต้องซ่อมเช่นเดียวกัน
  • ในภาพยนตร์เรื่องนี้ นรกในจินตนาการของผู้กำกับทั้งสองจะไม่มีวันเวลา ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีดวงอาทิตย์ เป็นสถานที่ที่ไม่มีเวลา พวกที่อยู่ในนรกจะไม่กินไม่นอน จะกินอะไรคนต้องทำบุญมาให้
  • ในนรกสำหรับเรื่องนี้ คนที่ตายแล้วเลือดจะเป็นสีดำ ส่วนคนที่ยังไม่ตายจะมีเลือดเป็นสีแดง
  • “สีผิวของมัจจุราชใช้สีแดงเป็นสีผิว” แทนสัญลักษณ์ของความตาย เลือดเนื้อ วิญญาณ ให้ความรู้สึกเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ แม้จะนั่งนิ่งๆ แต่ก็ดูเป็นคนที่มีอารมณ์อยู่ในตัว
  • สำหรับ “สุวรรณ-สุวาน” มีการดีไซน์ให้สีผิวต่างกัน เพราะต้องการบ่งให้ชัดถึงความแตกต่างของแต่ละตัว แยกไปเลยว่าใครทำหน้าที่อะไร “สุวรรณเป็นฝ่ายบุ๋น” จะมีสีผิวออกเหลือง คอยเก็บบัญชีรายชื่อดวงวิญญาณ ส่วน “สุวานเป็นฝ่ายบู๊” จะมีผิวสีเทาๆ อาวุธที่สุวานใช้ในเรื่องบางคนอาจคิดว่าเอามาจากตะวันตก แต่จริงๆ แล้วทีมงานมีการหาข้อมูล ทำรีเสิร์ชอาวุธที่ใช้เป็นอาวุธไทยโบราณ
  • “รู้หรือไม่ว่าสัมพะเวสีเป็นเปรตชนิดหนึ่ง” เป็นพวกขอส่วนบุญ ในเรื่องนี้มีการแตกออกมาให้เห็นว่ามีเปรตชนิดอื่นอีกนอกจากที่คนทั่วไปรู้จักกันว่า เปรตต้องสูง แขนขายาว ซึ่งจริงๆ แล้วเปรตมีหลายชนิด สัมพะเวสีก็เป็นเปรตอีกชนิดหนึ่ง จะแย่งอาหารกัน จะมีสัมพะเวสีปากเป็ด ปากไก่ หรือหน้าหมู ทางผู้กำกับมีวิธีคิดที่สื่อออกมาเป็นรูปธรรมอย่างง่ายๆ คือ ใครฆ่าอะไร ตายไปก็จะเป็นแบบนั้น เช่น ฆ่าเป็ด ปากก็เป็นเป็ด ฆ่าไก่ ปากก็เป็นไก่
  • “ห้องดวงชะตา” ห้องที่บรรจุดวงชะตาของเหล่าวิญญาณที่เวียนวนอยู่ในนรก ใครตายดวงชะตาก็จะตกลงสู่พื้น และจะมีพนักงานคอยเก็บแบกไป ส่งต่อให้สุวรรณ และสุวรรณรับมาดูว่าคนนั้นเคยทำอะไรมาบ้าง จากนั้นก็จดบันทึกไว้ ดวงชะตาจะเหมือนกับ Memory ที่เก็บข้อมูลต่างๆ ของเราไว้
  • “เลือดในเรื่องนี้ เรียกได้ว่าทำและผลิตกันเป็นโรงงานเลือดกันเลยทีเดียว” เลือดมีหลายแบบให้ใช้ ตามลักษณะการใช้งาน ทาตัวก็แบบหนึ่ง ไว้อมก็เป็นอีกแบบ ถ้าเลือดแบบทาตัวต้องหนืดเหนียว เพราะไม่งั้นเลือดจะเป็นปื้นๆ ไม่เหมือนของจริง แต่ถ้าเป็นเลือดแบบอมจะค่อนข้างเหลวผสมน้ำแดงและสีผสมอาหารสำหรับรับประทานได้
  • ไม่เพียงนักแสดงเลือดใหม่เท่านั้น ภาพยนตร์เรื่อง “นรก” ยังได้นักแสดงมากฝีมือมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวความเข้มข้นกับการหวนคืนจอเงินอีกครั้งของ “กาญจนาพร ปลอดภัย” ในบท “แม่จ๋า” ซึ่งต้องใช้ความสามารถเค้นอารมณ์ในการแสดงสูง ด้วยความตั้งใจในการทำงานอย่างเต็มที่ทำให้ “นรก” เป็นภาพยนตร์ที่ได้อรรถรสหลากอารมณ์ในเรื่องเดียว

นักแสดง

ณัฐวรรณ วรวิทย์
วุฒินันท์ ไหมกัน
ปัญญาพล เดชสงฆ์
อาคม ปรีดากุล (ค่อม ชวนชื่น)
สิทธิชัย เหลืองเสรี
ดลยา โพธิพิภัทรกุล
กาญจนาพร ปลอดภัย

ผู้กำกับ

สาธิต ประดิษฐ์สาร, ฑีฆายุ ธรรมนิตยกุล

โปสเตอร์ภาพยนตร์


ตัวอย่างภาพยนตร์ / คลิป


รูปภาพ